แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ในการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงอีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง โจทก์จะอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นกรณีจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายคมกริช และเด็กหญิงวิภาดา เมื่อปี 2546 จำเลยประกอบกิจการร้านอาหาร โจทก์ตักเตือนและห้ามปรามแต่จำเลยไม่ฟัง ต่อมากิจการขาดทุน จำเลยได้นำทรัพย์สินต่างๆ ไปขายและโจทก์ต้องกู้เงินจากสหกรณ์มาชำระหนี้ เป็นเงิน 150,000 บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยมีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์คบหญิงอื่นโจทก์จึงถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปทำรายงานเสนอโจทก์และจำเลยมีปัญหาทะเลาะกันเป็นประจำทำให้โจทก์ได้รับความอับอายต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อน และบุคคลทั่วไป เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2547 จำเลยได้ทิ้งร้างโจทก์หนีไปอาศัยอยู่ที่บ้านญาติที่รังสิตจนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกินหนึ่งปีแล้ว ทั้งจำเลยพยายามแกล้งโจทก์โดยนำบุตรไปเลี้ยงดูที่บ้านที่รังสิต ต่อมาภายหลังจึงนำบุตรมาคืนแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามี หรือภริยากันอย่างร้ายแรง ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว
จำเลยให้การว่า ในปี 2546 จำเลยประกอบกิจการร้านขายอาหาร โจทก์เห็นชอบด้วยจึงไปกู้เงินจากสหกรณ์ แต่โจทก์ไปคบหาหญิงอื่นฉันชู้สาว ให้จำเลยดูแลร้านอาหารเพียงผู้เดียว จำเลยขอร้องให้โจทก์เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นแล้วมาช่วยจำเลยประกอบกิจการร้านอาหารดังกล่าว แต่โจทก์ไม่เชื่อฟัง จำเลยจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของโจทก์เพื่อให้ตักเตือนโจทก์ โจทก์โกรธจำเลยจึงทิ้งจำเลยไปอยู่บ้านบิดามารดาของโจทก์ จำเลยต้องเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเพียงลำพัง ต่อมาจำเลยไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรทั้งสองได้จึงให้โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดู จำเลยไปทำงานกับพี่สาวที่จังหวัดปทุมธานีซึ่งโจทก์เห็นชอบ และจำเลยกลับไปเยี่ยมบุตรเดือนละสองครั้ง จำเลยไม่เคยทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง จนเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์ไม่ได้เสื่อมเสียชื่อเสียงจำเลยไม่ได้ทิ้งร้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายคมกริช เกิดวันที่ 30 ธันวาคม 2538 และเด็กหญิงวิภาดา เกิดวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ปัจจุบันบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอาศัยอยู่กับโจทก์ จำเลยได้มีหนังสือร้องเรียนโจทก์เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหญิงอื่นไปยังผู้บังคับบัญชาของโจทก์ และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ในการศึกษาระดับปริญญาโท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) โจทก์ไม่ได้ฎีกา ประเด็นเหตุฟ้องหย่าด้วยเหตุดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหญิงอื่นดังกล่าวแล้วเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัวซึ่งหนังสือร้องเรียนของจำเลยมีข้อความประการใดไม่มีการนำสืบถึง กรณีถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงแต่อย่างใดอีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง เพียงแต่ให้โจทก์ทราบว่าภริยาร้องเรียนเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นเท่านั้น อันมีเหตุผลที่จะกระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวมิให้หญิงอื่นมาทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวได้ โจทก์จะอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นกรณีจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงย่อมไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน จำเลยไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้