แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์คดีนี้กับโจทก์ในอีกคดีหนึ่งต่างเป็นผู้เสียหาย และต่างฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดอันเดียวกัน เมื่อคดีนั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) แม้ว่าโจทก์คดีนี้จะเป็นคนละคนกับโจทก์คดีดังกล่าว และฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนก็ตาม มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีในการกระทำความผิดอันเดียวกันซ้ำสองอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด มีนายอภิรัตน์ และจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2540 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 และครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด อันเป็นเท็จ เพราะไม่ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั้งสองครั้ง และไม่ได้มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น โดยรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นทั้งสองครั้งมีข้อสาระสำคัญในรายงานว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติ (1) ให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทข้อ 5. เรื่องทุนจดทะเบียนจากที่กำหนดไว้สามล้านบาทเป็นเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิมอีกเจ็ดล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวนเจ็ดหมื่นหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท (2) จำนวนหุ้นของบริษัทที่มีผู้เข้าชื่อซื้อไว้แล้วหรือจัดออกให้แล้วหนึ่งแสนหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท (3) ทุนจดทะเบียนของบริษัทกำหนดไว้เป็นจำนวนสิบล้านบาท แบ่งออกเป็นหนึ่งแสนหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท (4) แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการโดยมีกรรมการลาออก 1 คน คือ นายอภิรัตน์และมีกรรมการเข้าใหม่ 1 คน คือ จำเลยที่ 2 (5) แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจกรรมการเป็นจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท อันเป็นรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเท็จและปลอมทั้งสองฉบับ และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 เวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ 1 จัดทำหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจัดทำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิและเป็นเอกสารมหาชนปลอมขึ้นทั้งฉบับมีใจความสำคัญว่า บริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ได้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 มีผู้ถือหุ้นจำนวนเจ็ดคน มีหุ้นจำนวนหนึ่งแสนหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายการดังกล่าวว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ต่อมาในระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2540 เวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองร่วมกันเอาแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจจำนวน 1 แผ่นแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดจำนวน 1 แผ่น แบบพิมพ์รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือ มติพิเศษ จำนวน 1 แผ่นแบบพิมพ์ ก. กรรมการเข้าใหม่จำนวน 1 แผ่น และกระดาษเปล่าที่ใช้พิมพ์ข้อความแจ้งเหตุล่าช้าจำนวน 1 แผ่น ซึ่งมีลายมือชื่อของนายอภิรัตน์อยู่ก่อนแล้วไปกรอกข้อความโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายอภิรัตน์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โดยกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจอันเป็นเอกสารสิทธิว่า ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 บริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด มอบอำนาจให้นางสาวภัทรา เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนเพิ่มทุน มติพิเศษ บริคณห์สนธิข้อ 5. แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะนายอภิรัตน์ไม่เคยมอบอำนาจให้นางสาวภัทราไปดำเนินการแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความหรือรู้เห็นยินยอมในการกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารราชการว่า ในวันที่ 11 มีนาคม 2540 บริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ขอจดทะเบียนมติพิเศษให้เพิ่มทุน เพิ่มทุนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 5. (ทุน/หุ้น/มูลค่าหุ้น) กรรมการเข้า 1 คน ออก 1 คน และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และแนบรายการจดทะเบียนแบบ บอจ.4 จำนวน 1 แผ่น แบบ ก. จำนวน 1 แผ่น ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 และมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งไม่เป็นความจริง และจำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบพิมพ์รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือ มติพิเศษ อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารราชการว่า บริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด มีมติพิเศษให้เพิ่มทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกเจ็ดล้านบาท โดยมีการออกหุ้นใหม่เป็นหุ้นสามัญจำนวนเจ็ดหมื่นหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท ให้เพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่เป็นหุ้นสามัญชนิดเดียวไม่มีผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งมีผู้เข้าชื่อซื้อหรือจัดออกให้แล้วหนึ่งแสนหุ้น ให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 5. เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทกำหนดไว้เป็นจำนวนสามสิบล้านบาท (น่าจะเป็นสิบล้านบาท) แบ่งออกเป็นหนึ่งแสนหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท ให้แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการโดยนายอภิรัตน์ลาออกจากการเป็นกรรมการ และให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นกรรมการและให้แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทเป็นจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบพิมพ์ ก. กรรมการเข้าใหม่ มีใจความสำคัญว่า บริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการเข้าใหม่ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้วยซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในกระดาษเปล่าที่มีลายมือชื่อของนายอภิรัตน์อยู่ก่อนแล้ว โดยนายอภิรัตน์และโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในข้อความนั้น มีใจความว่าเป็นหนังสือบริคณห์สนธิ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) อันเป็นเอกสารราชการและเป็นเอกสารมหาชนของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ได้มีมติพิเศษของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 และมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทใน ข้อ 5. ทุนจดทะเบียนของบริษัทกำหนดไว้จำนวนสิบล้านบาท แบ่งออกเป็นหนึ่งแสนหุ้น มูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในกระดาษเปล่าที่มีลายมือชื่อของนายอภิรัตน์อยู่ก่อนแล้ว โดยนายอภิรัตน์และโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย มีใจความว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2540 บริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ขอแจ้งเหตุล่าช้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกรรมการ อำนาจกรรมการและเพิ่มทุนเพราะมีข้อขัดข้องในการเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารดังที่กล่าวมาแล้วจำนวน 6 ฉบับ ข้างต้น เป็นการกระทำเพื่อจะนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้หรือจ้างวานนางสาวภัทราให้นำเอาเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้อ้างต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จตามที่ระบุในเอกสารปลอมดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารมหาชนและเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ถือหุ้นที่ถูกต้องแท้จริงของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายอื่นและประชาชนเป็นเหตุให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหลงเชื่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารปลอมนั้นๆ และรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ณ วันที่ 24 มีนาคม 2540 เป็นเหตุให้โจทก์ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ผู้ถือหุ้นรายอื่นและประชาชน ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 264, 265, 266, 267, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 3 (10)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า บริษัทพารากอน เทเลคอมมิวนิเคชั่น ซิสเต็ม จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดอันเดียวกันกับคดีนี้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดโจทก์คดีนี้ในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดอันเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 ของศาลชั้นต้น มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองระงับไปหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์คดีนี้กับโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 ของศาลชั้นต้น เป็นโจทก์คนละคนกันทั้งโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ก่อนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 ประมาณ 6 เดือน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า โจทก์คดีนี้กับโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 ของศาลชั้นต้นต่างเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเมอคิวรี เทเลโฟน จำกัด และต่างฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดอันเดียวกัน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6501/2543 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แม้ว่าโจทก์คดีนี้จะเป็นคนละคนกับโจทก์คดีดังกล่าว และฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนก็ตาม มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่าจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีในการกระทำความผิดอันเดียวกันซ้ำสองอีก ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน