คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยและมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าถอนคำสั่งรับจดทะเบียนและปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน จึงเป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยดังกล่าวต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยดังกล่าวจะได้ดำเนินการใด ๆ โดยส่วนตัวหรือไม่ อย่างไรนั้น จึงไม่มีผลต่อคำพิพากษาของศาล นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ ฝ่ายจำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “INTEL” (อินเทล) ไว้หลายคำขอซึ่งส่วนใหญ่จะ
เป็นคำว่า “INTEL” แต่เพียงคำเดียว ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” แล้วจะเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายต่างเป็นอักษรโรมัน มีจำนวนตัวอักษรที่เหมือนกันและอยู่ในลำดับเดียวกันถึง 5 ตัว คือ I, N, T, E, L โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” จะมีตัวอักษรโรมันเพิ่มเติมอีก 3 ตัว เป็นคำต่อท้ายคือ L, i และ p ซึ่งอักษรโรมัน 5 ตัวแรกนั้นมีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คล้ายกับอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนอักษรโรมันอีก 3 ตัวนั้น มีลักษณะเป็นตัวเขียน ลักษณะของคำจึงมีความคล้ายกัน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น อาจพิจารณาได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็น 1 คำ อ่านออกเสียงได้ 2 พยางค์ คือ “อิน-เทล” ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 387379 เป็นคำ 2 คำ อ่านออกเสียงได้ 3 พยางค์ คือ “อิน-เทล-ลิบ” ทำให้เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญและสาธารณชนส่วนใหญ่จะจดจำได้มากที่สุด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำอื่น เช่น inside, INSIDE, Proshare หรือ TEAMSTATION อยู่ด้วยนั้น ก็เป็นภาคส่วนในเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์เท่านั้น
วัตถุประสงค์ให้การคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีการใช้มานานจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไปและอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างสูงในการดำเนินกิจการตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์จนทำให้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ดังนั้น หากมีการนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังกล่าวไปใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน ก็อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการกระทำเช่นนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทุกประเภทโดยใช้คำว่า “INTEL” เป็นคำนำหน้าและเป็นส่วนสำคัญของชื่อในการดำเนินธุรกิจของโจทก์และได้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” หรือ “อินเทล” เป็นเวลานานหลายปีแล้ว โจทก์ได้ใช้คำว่า “INTEL” เป็นเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นเองและเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก ในลักษณะที่เป็นชื่อทางการค้าเครื่องหมายค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ มีการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องตลอดมา บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า ลิปสติก ปรากฏตามคำขอเลขที่ 387379 โจทก์ยื่นคำคัดค้านการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1183/2545 และมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” คำขอเลขที่ 387379 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” คำขอเลขที่ 387379
จำเลยทั้งสิบห้าให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 เนื่องจากจำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 387379 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใด ๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าว คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมาย แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของตนจนเป็นที่แพร่หลายแต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และใช้กับสินค้าหรือบริการต่างจำพวกกัน จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 (คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1183/2545) ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 397379 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์ใช้คำว่า “INTEL” (อินเทล) เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อนิติบุคคลของโจทก์โดยประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาเป็นเวลานาน มีการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและโฆษณาสินค้ากับบริการในมูลค่าสูง บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้าลิปสติก นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยดังกล่าวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใด ๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวมทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอันเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” เพราะจำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1183/2545 และมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” คำขอเลขที่ 387379 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” คำขอเลขที่ 387379 จึงเป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยดังกล่าวต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยดังกล่าวจะได้ดำเนินการใด ๆ โดยส่วนตัวหรือไม่อย่างไรนั้น จึงไม่มีผลต่อคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ ฝ่ายจำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าประการต่อไปมีว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการที่ 1183/2545 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยืนยันว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ซึ่งเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีปริมาณการจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และมีการโฆษณาจนถือได้ว่าเป็นที่แพร่หลาย ทั้งเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภค สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ดี จำเลยทั้งสิบห้าในคดีนี้ก็ดี ต่างไม่โต้แย้งในข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากเอกสารของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าเองจึงเป็นอันรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป
ประเด็นที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยเป็นประการต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มี คำว่า “INTEL” (อินเทล) ไว้หลายคำขอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำว่า “INTEL” แต่เพียงคำเดียว ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้า คำว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 แล้วจะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายต่างเป็นอักษรโรมัน มีจำนวนตัวอักษรที่เหมือนกันและอยู่ในลำดับเดียวกันถึง 5 ตัว คือ I, N, T, E, และ L โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 จะมีตัวอักษรโรมันเพิ่มอีก 3 ตัว เป็นคำต่อท้ายคือ L, i และ p ซึ่งอักษรโรมัน 5 ตัวแรกนั้นมีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คล้ายกับอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนอักษรโรมันอีก 3 ตัวนั้นมีลักษณะเป็นตัวเขียน ลักษณะของคำจึงมีความคล้ายกัน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น อาจพิจารณาได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำ 1 คำอ่านออกเสียงได้ 2 พยางค์ คือ “อิน – เทล” ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 387379 เป็นคำ 2 คำ อ่านออกเสียงได้ 3 พยางค์ คือ “อิน-เทล-ลิบ” ทำให้เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเหมือนกันใน 2 พยางค์แรกซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญและสาธารณชนส่วนใหญ่จะจดจำได้มากที่สุด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าที่ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำอื่น เช่น inside, INSIDS, Proshare หรือ TEAMSTATION อยู่ด้วยนั้น เป็นภาคส่วนในเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์เท่านั้น และกรณีที่จำเลยทั้งสิบห้าอ้างในทำนองว่า บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ใช้คำอื่นมาประกอบด้วยนั้นก็เป็นข้อความนอกเหนือจากเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ไม่จำต้องนำมาประกอบในการวินิจฉัยในชั้นนี้
ประเด็นสุดท้ายที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยมีว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ในทำนองว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่างมีลักษณะเป็นคำประดิษฐ์มีความหมายแตกต่างกัน สาธารณชนไม่สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่ง กำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” แม้จะมีการปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิในคำว่า “Lip” แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่ในการพิจารณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย หาได้ตัดคำว่า “Lip” ออกไปแต่อย่างใดไม่ และผู้ขอจดทะเบียนไม่ได้ใช้เทคนิคการตลาดโดยไม่สุจริต เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ใช้กับสินค้าเครื่องสำอาง ซึ่งไม่น่าจะทำให้ยอดขายสินค้าสูงขึ้นโดยแรงจูงใจจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในกลุ่มคอมพิวเตอร์ เห็นว่า วัตถุประสงค์ในการให้การคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีการใช้มานานจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป และอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างสูงในการดำเนินกิจการตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์จนทำให้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ดังนั้น หากมีการนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังกล่าวไปใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันก็อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการกระทำเช่นนั้น สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์เป็นคำประดิษฐ์ ซึ่งก่อนที่โจทก์จะคิดประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา ก็ไม่มีผู้อื่นคิดและมีสิทธิใช้มาก่อน จึงต่างจากกรณีที่เป็นการใช้คำสามัญที่มีอยู่ทั่วไปแล้วเป็นเครื่องหมายการค้า ย่อมไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลใดหวงกันการใช้คำสามัญดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว การให้ความคุ้มครองคำว่า “INTEL” (อินเทล) แก่โจทก์ จึงไม่ถึงขนาดที่จะเป็นการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่โจทก์จนเกินสมควร เมื่อพิจารณาต่อไปว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยเมื่อปี 2527 แต่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด เพิ่งมาขอจดทะเบียนเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยมาแล้วถึง 15 ปี ย่อมเป็นไปได้ว่าสาธารณชนเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว เมื่อเห็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด สาธารณชนจะนึกถึงเชื่อมโยงไปถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด เกี่ยวข้องกับโจทก์ จึงถือว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL Lip” ตามคำขอเลขที่ 387379 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL” (อินเทล) ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ดังนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share