คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับเอาแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่มีการผิดนัดไม่ชำระหนี้เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีอยู่ 2 ประการ คือการบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้นั้นประการหนึ่ง กับการเรียกร้องให้ได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมรวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายอีกประการหนึ่ง และในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา สิทธิของอีกฝ่ายหนึ่งมีอีกประการหนึ่ง คือเมื่อไม่ต้องการให้สัญญานั้นผูกพันกันต่อไป ก็คือสิทธิเลิกสัญญาตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 387-388 ซึ่งเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วผลก็มีแต่ทางเดียวคือคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะได้กลับคืนสู่ฐานเดิมแต่หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ตามมาตรา 391 ผู้จะขายที่ดินผิดสัญญาผู้จะซื้อจึงบอกเลิกสัญญาและให้ผู้จะขายคืนมัดจำกับใช้เบี้ยปรับนั้น ผู้จะซื้อก็คงมีแต่สิทธิกลับคืนสู่ฐานะเดิมและเรียกค่าเสียหายเท่านั้น จะขอให้บังคับให้โอนที่ดินแก่ตนอีกไม่ได้ เพราะได้บอกเลิกสัญญาแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้วผิดสัญญา เอาไปขายจำเลยที่ ๓ เสีย จึงขอให้จำเลยที่ ๑-๒ คืนเงินมัดจำกับใช้ค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ย มิฉะนั้นก็ขอให้ทำลายการโอนระหว่างจำเลยที่ ๑-๒ -๓ ให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้วให้จำเลยที่ ๑ จัดการตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำกับใช้ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ย ฟ้องข้ออื่นให้ยกเสีย กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒-๓
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับเอาแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่มีการผิดนัดไม่ชำระหนี้ (คือผิดสัญญา) เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีอยู่เป็นสองประการ คือการบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้นั้นประการหนึ่ง กับการเรียกร้องให้ได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมรวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายอีกประการหนึ่งสำหรับในกรณีนี้เมื่อจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนได้กระทำผิดสัญญา สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็เกิดขึ้นทั้งสองประการคือจะบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินให้ก็ได้ หรือจะเรียกร้องเอาคืนซึ่งเงินมัดจำพร้อมกับเรียกเอาค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากนั้นก็ได้ แต่ในการที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญานั้น คือบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินในนั้น โจทก์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อสัญญาจะซื้อขายนั้นมีผลผูกพันอยู่ในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา สิทธิของโจทก์มีอีกประการหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ต้องการให้สัญญานั้นผูกพันกันต่อไปก็คือเลิกสัญญาตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๓๘๗,๓๘๘ และเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วผลก็มีแต่ทางเดียว คือคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายไม่ ดังปรากฎอยู่ในมาตรา ๓๙๑ คดีนี้ฝ่ายจำเลยผู้จะขายผิดนัดฝ่ายโจทก์ผู้ซื้อได้มีหนังสือแจ้งไปว่าเลิกสัญญาให้จำเลยคืนมัดจำและให้ชำระเบี้ยปรับ จึงเป็นเรื่องใช้สิทธิกลับคืนสู่ฐานะเดิมและเรียกค่าเสียหายเท่านั้น โจทก์ไม่มีทางที่จะขอให้บังคับปฏิบัติการชำระหนี้โดยการโอนที่ดินได้
คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว จึงพิพากษายืน

Share