คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ท. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ซึ่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้โดยต้องใช้สิทธิไล่เบี้ยภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งและวรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ฉบับที่ 3ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น การที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ ส. ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยไปจำนวน 15,000 บาท แล้วมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแม้แต่ผู้ประสบภัยเองก็ตาม หากปรากฏภายหลังว่าเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวก็บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนค่าเสียหายเบื้องต้นที่ได้รับไปแล้วได้ การฟ้องคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของ ส. ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะ ส. มิใช่ผู้เอาประกันภัย การที่ ส. รู้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดตั้งแต่เมื่อใดจึงไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อโจทก์รู้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 จึงเป็นการฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 15,843 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาท และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้วตามฟ้องจริง จำเลยเป็นผู้นำนางสาวสุจิตรา ส่งโรงพยาบาลแล้วเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางสาวสุจิตราจนเป็นที่พอใจแล้ว คดีนี้เป็นคดีละเมิด นางสาวสุจิตรามีสิทธิฟ้องจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิของนางสาวสุจิตรามาฟ้องจำเลย ย่อมไม่มีอำนาจเกินกว่าสิทธิที่นางสาวสุจิตรามีอยู่ จึงต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุเช่นเดียวกัน ทั้งจำเลยมิใช่บริษัทประกันภัยที่โจทก์จะฟ้องไล่เบี้ยได้ภายในอายุความ 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 15 มีนาคม 2550) ต้องไม่เกิน 843 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 300 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กมค 879 พระนครศรีอยุธยา ไว้จากนางสุนทราภา ซึ่งเอาประกันภัยประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549 จำเลยขับรถไถนาด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย เป็นเหตุให้นางสาวสุจิตรา ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลให้แก่นางสาวสุจิตราไปแล้ว 15,000 บาท จึงมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์สรุปความว่า นางสาวสุจิตรารู้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดตั้งแต่วันเกิดเหตุ โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิของนางสาวสุจิตรามาฟ้องจำเลยจึงต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุเช่นเดียวกับนางสาวสุจิตรานั้น เห็นว่า นางสุนทราภาเอาประกันภัยรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ซึ่งาหมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 และเมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยต้องใช้สิทธิไล่เบี้ยภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ทั้งนี้ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น การที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่นางสาวสุจิตราซึ่งเป็นผู้ประสบภัยในจำนวน 15,000 บาท แล้วมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แม้แต่ผู้ประสบภัยเองก็ตาม หากปรากฏภายหลังว่าเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวก็บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนค่าเสียหายเบื้องต้นที่ได้รับไปแล้วได้ การฟ้องคดีนี้จึงหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของนางสาวสุจิตราซึ่งเป็นผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เพราะนางสาวสุจิตรามิใช่ผู้เอาประกันภัย การที่นางสาวสุจิตรารู้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดตั้งแต่เมื่อใดจึงไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อโจทก์รู้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 จึงเป็นการฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยนั้น เป็นการอ้างอายุความตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง เดิม ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ทั้งมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นนี้ 300 บาท แทนโจทก์

Share