คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เดิมจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยได้ขออาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่ก่อนในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์ตกลงยินยอมโดยไม่ได้คิดค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่พิพาทตามคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน จำเลยได้ไปยื่นคำขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน ดังนี้เป็นการโต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 แล้ว โจทก์ก็จะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนการครอบครอง สำนักงานที่ดินจังหวัดตราดเพิ่งมีหนังสือแจ้งเรื่องที่จำเลยคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทราบเมื่อ 17 มีนาคม 2535 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยไปคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินเมื่อหนังสือดังกล่าวไปถึงโจทก์ โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามจำเลยมิให้เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 251/108 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นของจำเลย ให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เป็น จำเลยเป็นผู้ได้สิทธิครอบครอง หากโจทก์ไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อปี 2515 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการครอบครองแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายสมศักดิ์ นายไพรวัลย์ นายโกสุม นางสาวโสภา และนายอาทิตย์ บุตรของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ถึงแก่ความตาย นางศุภวรรณ หรืออรวรรณ ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ตามคำสั่งศาลยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลย นางวิหร่า และโจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามลำดับ บิดาได้เสียชีวิตไปก่อน ต่อมาปี 2490 มารดาเสียชีวิต หลังจากนั้นจำเลยครอบครองดูแลทรัพย์มรดกทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาท เมื่อปี 2498 จำเลยเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทเนื้อที่ 32 ไร่ ต่อมาปี 2515 จำเลยขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ครั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2515 จำเลยแบ่งขายที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 24 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในราคา 2,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยยังอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทต่อไป ส่วนโจทก์รับราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท วันที่ 23 ธันวาคม 2531 โจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาท วันที่ 27 กรกฎาคม 2532 จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านการออกโฉนดที่ดินที่พิพาททั้งแปลง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยมาขอปลูกบ้านอยู่อาศัยชั่วคราวเพราะเป็นญาติพี่น้องกัน เนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้จำเลยและบริวารออกไป โดยได้แนบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทและแผนที่สังเขปแสดงบ้านที่จำเลยปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทท้ายคำฟ้องอีกด้วย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ คือการที่จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา ที่ปลูกบ้านอาศัยอยู่ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ คำฟ้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยอาศัยชั่วคราวอย่างไรทำการสิ่งใดในที่ดินพิพาทแค่ไหน เพียงใดและตั้งแต่เมื่อใด และที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นอย่างไร ตามที่จำเลยฎีกาก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลืบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครบอครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่พิพาท ในปัญหาข้อนี้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างนำสืบว่า ตนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยและจำเลยส่งมอบการครอบครองให้โจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยขอพักอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกสร้างในที่ดินพิพาทและขออนุญาตทำนาในที่ดินพิพาทโจทก์ยินยอมโดยไม่ได้คิดค่าตอบแทนใดและมีพยานโจทก์ปากอื่นที่เคยไปช่วยโจทก์ปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทมาเบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยมีนายบวร บุตรนางวิหร่าและนายสมศักดิ์ บุตรจำเลยเบิกความว่าจำเลยจะยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่ทางที่ว่าการอำเภอบอกว่ายุ่งยากให้ทำเป็นซื้อขายโดยจำเลยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องปรับปรุงที่นาให้เป็นสวน แต่โจทก์ไม่ได้ปรับปรุงจำเลยจึงปรับปรุงเองโดยปลูกต้นมะพร้าว ต้นขนุน และขุดบ่อเลี้ยงปลา โจทก์ไม่เคยเข้ามาครองครองหรือยุ่งเกี่ยวหรือห้ามจำเลย ต่อมาที่ดินมีราคาสูงขึ้นโจทก์จึงไปขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยได้ไปคัดค้าน และจำเลยมีพยานที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทมายืนยันว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนี้ คำเบิกความของพยานแต่ละฝ่ายยันคำกัน แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ นอกเหนือจากที่ต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับตามสำเนาบันทึกถ้อยคำจำเลย ซึ่งจำเลยไปทำคำขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดินที่พิพาทเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 ว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำเลยครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อน ต่อมาประมาณปี 2515 จำเลยนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปรังวัดแบ่งแยกให้โจทก์ ซึ่งเป็นน้องชายโดยไม่ได้กันเอาที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยออกจากที่ดินพิพาทเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นพี่น้องกันคงพูดจากันรู้เรื่อง คงจะไม่มีปัญหาอะไร จึงมิได้ติดใจคิดจะแบ่งแยกที่ดินออกจากที่ดินของโจทก์นั้น ซึ่งบันทึกดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้บันทึกถ้อยคำและจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้ถ้อยคำไว้ เป็นการแสดงว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้รับโอนแล้ว โดยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนแต่อย่างใด แต่เนื่องจากเป็นพี่น้องกัน จำเลยขออาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่ก่อนในที่ดินพิพาทต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าหลังจากโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยแล้ว จำเลยขออาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทและโจทก์ตกลงยินยอมโดยไม่ได้คิดค่าตอบแทน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นเพียงยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ โจทก์มีนายวีรพงษ์ และนายบำรุง เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2531 โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่พิพาทตามคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 จำเลยได้ไปยื่นคำขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน นายบำรุงเป็นผู้ออกหนังสือลงวันที่ 17 มีนาคม 2535 แจ้งจำเลยและโจทก์ให้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตราดในวันที่ 30 มีนาคม 2535 เพื่อทำการสอบสวนเปรียบเทียบก่อนออกโฉนดที่ดิน เมื่อถึงวันนัดโจทก์มา ส่วนจำเลยไม่มา จึงได้บันทึกถ้อยคำโจทก์ไปฝ่ายเดียว เห็นว่า นายวีรพงษ์และนายบำรุงพยานโจทก์ต่างเบิกความประกอบพยานเอกสารดังกล่าวในเรื่องที่รู้เห็นจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อโจทก์นำรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วได้ไปโต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครอง ดังนี้ เป็นการโต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แล้ว แต่สำนักงานที่ดินจังหวัดตราดเพิ่งมีหนังสือแจ้งเรื่องที่จำเลยคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยไปคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินเมื่อหนังสือดังกล่าวไปถึงโจทก์ โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจึงไม่เกินระยะเวลา 1 ปี ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อปี 2532 นายอำเภอคลองใหญ่มีหนังสือให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่โจทก์ต้องทราบว่าจำเลยไม่เคยเสียภาษีมาก่อนและถูกแย่งการครอบครองตั้งแต่ปี 2532 หรือเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2533 (ที่ถูกวันที่ 25 กันยายน 2533) โจทก์ยื่นคำขอตรวจและถ่ายเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ โจทก์ต้องทราบการคัดค้านในวันดังกล่าวแล้วหรือโจทก์ทราบถึงการถูกแย่งการครอบครองมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2518 ที่จำเลยอนุญาตให้ทางราชการตัดถนนผ่านที่ดินพิพาท ข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวล้วนเป็นการอ้างเหตุหรือข้ออ้างที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถึงแม้มีประเด็นที่อ้างเหตุนั้นก็เฉพาะในเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในตอนต้นของปัญหาข้อนี้เท่านั้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share