คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5871/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้นำของเข้าจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบจนถึงวันที่นำเงินมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ต่อเมื่อกรมศุลกากรโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยผู้นำเข้านำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบสินค้ารถยนต์ให้จำเลยนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่จำเลยต้องนำมาชำระตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรและตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โจทก์ที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและตามกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ ๒ นอกจากนี้โจทก์ที่ ๑ ยังมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล (ที่ถูกภาษีส่วนท้องถิ่น) แทนโจทก์ที่ ๒ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังด้วย เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๒ จำเลยได้นำรถยนต์นั่งใช้แล้วยี่ห้อ เฟอรรารี รุ่น ๓๐๘ จี ที บี ปี ๑๙๗๖ ขนาด ๒๙๒๖ ซี.ซี. พร้อมอุปกรณ์จำนวน ๑ คัน ประเทศกำเนิดอิตาลีนำเข้าจากประเทศอังกฤษโดยทางเรือ เมื่อสินค้าดังกล่าวถูกนำเข้ามาถึงด่านท่าเรือกรุงเทพ จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ โดยจำเลยสำแดงราคาสินค้า ๓๙,๑๓๔ บาท อากรขาเข้า ๑๑๗,๔๐๒ บาท ภาษีการค้า ๑๑๐,๔๕๑ บาทภาษีส่วนท้องถิ่น ๑๑,๐๔๕ บาท รวมภาษีอากร ๒๓๘,๘๙๘ บาท ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ ได้ตรวจพบว่า จำเลยมิได้สำแดงเครื่องปรับอากาศ วิทยุพร้อมลำโพงกระจกมองข้างซ้ายขวาและสปอยเลอร์หน้าหลัง และเป็นรถยนต์รุ่น ๓๒๘ จี ที บี ปี๑๙๘๗ ถึง ๑๙๘๘ เป็นการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เป็นเหตุให้จำเลยเสียอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีส่วนท้องถิ่นขาด รวมจำนวน ๖,๓๒๑,๖๖๔บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ จึงประเมินเรียกเก็บภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง และมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้า เงินเพิ่มภาษีการค้า และภาษีส่วนท้องถิ่น รวมภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มจำนวน ๑๖,๔๔๓,๗๐๖.๐๒ บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวและเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ หนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มจำนวน ๓,๐๗๔,๗๓๙ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๒,๘๑๕,๕๑๔บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ จัตวา จากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้นำของเข้าจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระ โดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบจนถึงวันที่นำเงินมาชำระตามมาตรา ๑๑๒ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ ต่อเมื่อโจทก์ที่ ๑ ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยผู้นำเข้านำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์อ้างว่า ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ ได้บันทึกการตรวจปล่อยแล้ว จึงถือว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายมาตรา ๑๑๒ จัตวา ศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าในช่องบันทึกการตรวจปล่อย ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าได้มีการตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยรับไปแล้ว และโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำนายสุวิทย์ ผลสูงเนินนายตรวจศุลกากรผู้บันทึกใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ามาเบิกความยืนยันให้ฟังได้เป็นจริงเช่นนั้น กลับปรากฏจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ประเมินอากรฝ่ายการนำเข้า ๖ กองพิธีการของโจทก์ที่ ๑ ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินอากรครั้งแรกตรวจพบว่าสินค้าที่นำเข้าคือรถยนต์มีสภาพใหม่ไม่น่าจะใช่รุ่นที่จำเลยระบุไว้จึงทำการยึดและจับกุมในวันตรวจปล่อยนั้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือของกองพิธีการและประเมินอากรกรมศุลกากรที่ กค ๐๖๑๔ (ก)/๐๐๓๙ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๓ ที่ระบุว่ารถยนต์ดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยออกไปจากอารักขาของศุลกากร เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับรุ่นและปีผลิตของรถยนต์ว่าจะถูกต้องตรงตามที่จำเลยสำแดงหรือไม่ อย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ ๑ได้ส่งมอบสินค้ารถยนต์ดังกล่าวให้จำเลยนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ดังนั้นโจทก์ที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่จำเลยต้องนำมาชำระตามกฎหมาย
พิพากษายืน.

Share