คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3736/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) จะห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ยื่นฝ่าฝืนต่อมาตรา 88 แต่ในมาตรา 87 (2) นั่นเองได้บัญญัติต่อไปว่า “…แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้” เมื่อปรากฏว่าพยานบุคคลที่โจทก์ทั้งสองอ้าง เป็นพนักงานขายซึ่งมีหน้าที่ติดตามหนี้สินรายนี้จากจำเลยที่ 3 อันเป็นพยานสำคัญในคดี ทั้งจำเลยที่ 3 ก็มีโอกาสถามค้านและนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ได้ ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้นั้น จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเช่นนั้น ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของพยานบุคคลที่โจทก์ทั้งสองอ้างเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,274,730.55 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,360,741.47 บาท และของต้นเงิน 508,256.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ในมูลหนี้ตามฟ้องกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าสินค้าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม การคิดดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยตามฟ้องผิดทั้งหมด เพราะโจทก์ทั้งสองสามารถคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น และโจทก์ทั้งสองไม่เคยทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,837,288.22 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 9,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,837,288.22 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสาม แต่เนื้อหาในฎีกาคงมีแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เท่านั้นที่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าคดีนี้เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ฎีกา
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 คดีนี้และแต่งตั้งให้บริษัทสำนักงานกฎหมายฟาร์อีสท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำแผนตามคดีหมายเลขแดงที่ 445/2543 ของศาลล้มละลายกลาง โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวศาลล้มละลายกลางก็มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ย่อมเป็นการผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง หนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการและแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 การที่โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม (ขอระบุนางสาวยุพินเป็นพยาน) ล่วงพ้นระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง แล้ว ที่ถูกโจทก์ทั้งสองจะต้องดำเนินการตามมาตรา 88 วรรคสาม โดยยื่นเป็นคำร้องแสดงเหตุผลตามที่มาตรา 88 วรรคสาม กำหนดไว้ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ และให้โจทก์ทั้งสองนำนางสาวยุพินเข้าเบิกความในวันเดียวกันนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่าฝืนต่อมาตรา 88 วรรคสองและวรรคสาม อย่างชัดแจ้ง คำเบิกความของนางสาวยุพิน จึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานได้นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) จะห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ยื่นฝ่าฝืนต่อมาตรา 88 แต่ในมาตรา 87 (2) นั้นเองได้บัญญัติต่อไปว่า …แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ เมื่อปรากฏว่านางสาวยุพินพยานบุคคลที่โจทก์ทั้งสองอ้าง เป็นพนักงานขายซึ่งมีหน้าที่ติดตามหนี้สินรายนี้จากจำเลยที่ 3 อันเป็นพยานสำคัญในคดี ทั้งจำเลยที่ 3 ก็มีโอกาสถามค้านและนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ได้ ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้นั้นจึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเช่นนั้น ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของนางสาวยุพินเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว…
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 8,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

Share