คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3487/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 แจ้งขอใบจับจองที่ดินพิพาทในระหว่างเวลาที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ยังเป็นสามีภริยากัน นับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสแล้ว ถือได้ว่าโจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย การที่จำเลยที่ 3 ตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวเพื่อการแบ่งทรัพย์สินย่อมกระทำได้หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ ป.ที่ดิน ฯ มาตรา 8 วรรคสอง ที่ระบุให้โอนได้แต่เฉพาะทายาทผู้รับโอนทางมรดกไม่ข้อตกลงแบ่งทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 ทำต่อโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
แม้จำเลยที่ 3 มีชื่อในใบจอง แต่จำเลยที่ 3 ย้ายไปทำกินอยู่อีกตำบลหนึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว ดังนั้น การออกโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และเมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบ ศาลมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเสียได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามใบจองเลขที่ 336 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านนา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 28982 ตำบลบ้านนา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 สอบสวนและสำรวจรังวัดที่ดินตามใบจองเลขที่ 336 และออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 336 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 28982 ตำบลบ้านนา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า โจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2521 ครั้นวันที่ 6 มีนาคม 2530 จำเลยที่ 3 ได้ไปขอออกใบจองในที่ดินพิพาท ต่อมาในปลายปีนั้นเองโจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงหย่าขาดจากกันโดยทำบันทึกหลังทะเบียนหย่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ ปรากฏตามทะเบียนการหย่า หลังจากนั้นโจทก์คงเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกเป็นสวนยางพาราเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2535 ทางราชการได้ออกสำรวจรังวัดที่ดินเพื่อการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินในเขตที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ปรากฏว่ามีจำเลยที่ 3 ไปดำเนินการจนทางราชการออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ข้อตกลงการแบ่งทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 ทำต่อโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะหรือไม่ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 นั้นชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามหลักฐานจะปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ไปขอออกใบจับจองที่ดินพิพาทในนามของตนแต่ผู้เดียว แต่โจทก์ก็มีตัวโจทก์มานำสืบให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทที่ไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินจากผู้มีชื่อซึ่งโจทก์ระบุชื่อว่าเป็นนายวาย แต่จำนามสกุลไม่ได้ เมื่อพิจารณาประกอบหลักฐานที่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ไปแจ้งการขอใบจับจองเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2530 อันเป็นวันเวลาที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ยังมีสถานะเป็นสามีภริยากันอันนับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย การที่จำเลยที่ 3 ตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวเพื่อการแบ่งทรัพย์สินจึงย่อมกระทำได้หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ที่ระบุให้โอนได้เฉพาะแต่ทายาทผู้รับโอนทางมรดกไม่ ข้อตกลงการแบ่งทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 ทำต่อโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นโมฆะ มีผลใช้บังคับได้ เพราะกรณีนี้เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์ในฐานะที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ส่วนปัญหาว่าการออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาต่อไปถึงพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปาก นายวิศวะ นิติกร กองนิติการ กรมที่ดินที่เบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่า การพิจารณาในเบื้องต้นทางราชการจะออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ทำกินในที่ดินก่อน ทั้งตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่า หากสอบสวนได้ความว่าผู้มีชื่อในใบจองไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วทางราชการจะไม่ออกโฉนดที่ดินให้ ซึ่งก็ได้ความจากพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกปากคือนายทองพูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่เกิดเหตุที่เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามติง และตอบทนายความโจทก์ขออนุญาตศาลถามรวมใจความว่า โจทก์เป็นผู้ทำกินในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 3 ย้ายไปทำกินอยู่อีกตำบลหนึ่งแล้ว ดังนั้น การออกโฉนดที่ดินพิพาท ให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะควรออกให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และเมื่อเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบแล้ว ศาลมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินนี้เสียได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share