คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลชั้นต้นมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และคู่ความอุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามคำฟ้องและคำให้การฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยตกลงค่าจ้างว่าความกัน 250,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะจ่ายค่าจ้างว่าความให้โจทก์ต่อเมื่อจำเลยได้รับเงินจาก ส. ลูกหนี้แล้ว ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของเงินที่จำเลยจะได้รับชำระจาก ส. ลูกหนี้ของจำเลยหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์เรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยเป็นเงิน 40,000 บาท และเรียกเพิ่มอีกร้อยละ 5 เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นรับฟังไม่ได้ คดีจึงไม่มีปัญหาว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นโมฆะหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 270,310 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 250,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องมิให้คิดคำนวณเกินกว่า 20,310 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกให้นางสาวสง่า ลูกหนี้ของจำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ศาลจังหวัดสมุทรสาครเป็นเงิน 5,000,000 บาทเศษ ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2544 ศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำพิพากษาให้นางสาวสง่าชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่จำเลยทั้งสอง คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ 6 กันยายน 2544 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรสาครขอถอนโจทก์จากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองได้ตั้งทนายความอื่นดำเนินการบังคับคดี โดยจำเลยทั้งสองได้รับชำระหนี้แล้วเป็นเงินประมาณ 246,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลชั้นต้นมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลชั้นต้นยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยและคู่ความอุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในส่วนที่ตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์ซึ่งเป็นทนายเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดี ไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ปัญหาว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงเรื่องค่าจ้างว่าความกันอย่างไร คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าตกลงค่าจ้างว่าความกัน 250,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองตกลงตามที่โจทก์ขอค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสองจำนวน 250,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าจำเลยทั้งสองจะจ่ายค่าจ้างว่าความให้โจทก์ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับเงินจากนางสาวสง่าลูกหนี้แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ยุติตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงค่าจ้างว่าความกัน 250,000 บาท คดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับชำระจากนางสาวสง่าลูกหนี้ของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์เรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 40,000 บาท และเรียกเพิ่มอีกร้อยละ 5 เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นรับฟังไม่ได้ และข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันจะทำให้สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การทำหน้าที่ของโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้นตามสัญญาจ้างว่าความดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยโจทก์จะต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีจนเสร็จสิ้นด้วย แต่โจทก์มิได้ดำเนินการจำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ ปัญหาจึงมีว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงจ้างว่าความกันจนเสร็จการบังคับคดีหรือเพียงแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดี จำเลยทั้งสองมีเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์ทำบันทึกรับเงินค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีให้ไว้แก่จำเลยทั้งสองโดยตอนท้ายของเอกสารหมาย ล.1 โจทก์บันทึกไว้ว่า ส่วนค่าทนายความ (ค่าวิชาชีพ) เป็นเงินประมาณ 250,000 บาท จะจ่ายเมื่อได้รับเงินจากลูกหนี้ โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า โจทก์ทำหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่จำเลยทั้งสองเพราะมีเจตนาว่าจะรับค่าวิชาชีพต่อเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับชำระหนี้จากนางสาวสง่าเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ จึงน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้โจทก์ทำหน้าที่เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองในชั้นบังคับคดีด้วย เนื่องจากโจทก์มีเจตนาว่าจะรับค่าจ้างว่าความเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับชำระหนี้จากนางสาวสง่าแล้ว มิฉะนั้นโจทก์คงไม่บันทึกไว้ในเอกสารหมาย ล.1 เช่นนั้น อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาคดีที่จำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวสง่าได้ 2 เดือนเศษ จำเลยทั้งสองก็ยื่นคำร้องขอถอนโจทก์จากการเป็นทนายความ ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ทนายความของจำเลยทั้งสองได้อีกต่อไป โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับค่าจ้างว่าความตามส่วนของงาน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีที่จำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวสง่าที่ศาลจังหวัดสมุทรสาครเป็นคดีที่ไม่ยุ่งยากมีการนัดสืบพยานเพียง 5 นัด และสืบพยานเพียง 2 ปาก โจทก์ได้รับเงินค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสองไปแล้วจำนวน 40,000 บาท เป็นการเหมาะสมแก่เนื้องานที่โจทก์ได้ทำให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วนั้น เห็นว่า เงินจำนวน 40,000 บาท ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีเป็นคนละส่วนกับค่าจ้างว่าความจำนวน 250,000 บาท ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงการงานที่โจทก์ได้ทำให้แก่จำเลยทั้งสองประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เองก็มีความเห็นไม่ตรงกับจำเลยทั้งสองในเรื่องการบังคับคดีจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีให้แก่จำเลย โจทก์จึงสมควรได้รับค่าจ้างลดลง ศาลฎีกาเห็นสมควรลดค่าจ้างว่าความลงเหลือ 150,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าจ้างว่าความเต็มจำนวนตามฟ้องเป็นเงิน 250,000 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2545 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share