คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10341/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการเพื่อแสวงหากำไรโดยกู้ยืมเงินมาลงทุน ตอนที่โจทก์ขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่ปรากฏว่าราคารถยนต์ในขณะนั้นลดลงและโจทก์ก็ไม่ได้ประสบกับขาดทุน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องขายรถยนต์ในราคาที่ขาดทุน อีกทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถชี้แจ้งเหตุผลการขายขาดทุนแก่เจ้าพนักงานประเมินได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าทุนโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาผลขาดทุนจากการขายมาคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จึงชอบแล้ว
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรเฉพาะประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้และผู้ต้องเสียภาษีอุทธรณ์เท่านั้น จะไปตั้งประเด็นใหม่นอกเหนือจากประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหาได้ไม่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่ารายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท เป็นรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 1,770,000 บาท ส่วนที่เหลือไม่ให้หักโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้นำมาหักตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) และ (18) แสดงให้เห็นได้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่ารายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท ของโจทก์มิใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ แต่การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายได้เพียง 1,770,000 บาท ส่วนอีก 3,851,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ให้นำมาหักนั้นเกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เรียกพนักงานผู้มีรายชื่อตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ได้รับเงินค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายมาไต่สวน โดยไม่มีประเด็นเหล่านี้ในชั้นเจ้าพนักงาน การพิจารณาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ตั้งประเด็นไว้ในชั้นไต่สวนเพื่อทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 19, 20, และ 32 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสอุทธรณ์โต้แย้งตามลำดับขั้นตอนได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับไต่สวนเสียเองในประเด็นอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้มีคำสั่งไว้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งมา แม้โจทก์จะได้อุทธรณ์การประเมินก็ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมินไปก่อน หากผลที่สุดโจทก์ไม่ต้องชำระหรือชำระน้อยกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ โจทก์มีสิทธิได้คืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ การที่โจทก์เลือกที่จะนำหนังสือรับรองของธนาคารมาค้ำประกันหนี้ค่าภาษีของโจทก์โดยโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารผู้ค้ำประกันร้อยละ 1.7 ต่อปี จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เลือกวิธีดังกล่าวเอง โจทก์จึงต้องรับภาระดังกล่าวไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และ 2535 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และลดหรืองดเบี้ยปรับแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมการค้ำประกันของธนาคารเป็นเงินถึงวันฟ้อง 356,333.57 บาท และส่วนที่จะเพิ่มขึ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์แสดงยอดขายไว้ในบัญชีต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเปรียบเทียบกับหลักฐานใบเสร็จรับเงินชั่วคราวและใบสั่งของชั่วคราวที่ผู้ซื้อรถยนต์จากโจทก์ส่งมอบให้ เจ้าพนักงานประเมินจึงนำรายรับที่ลงบัญชีไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงในปี 2534 จำนวน 704,800 บาท และในปี 2535 จำนวน 371,049.53 บาท มาคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ส่วนกรณีรถยนต์ต่อเติมจากการตรวจเอกสารสมุดบัญชีเงินสดจ่ายประกอบเอกสารการลงบัญชี พบว่ามีรายการจ่ายค่าต่อเติมรถยนต์และอุปกรณ์ซึ่งโจทก์ได้นำค่าใช้จ่ายค่าต่อเติมรวมไว้ในบัญชีต้นทุนแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงเปรียบเทียบราคาขายรถยนต์ที่ต่อเติมพร้อมอุปกรณ์ตามเอกสารการขายประกอบการลงบัญชีกับราคาทุนที่ซื้อตามเอกสารใบรับสินค้าและใบกำกับภาษีซื้อประกอบการลงบัญชีของโจทก์บวกด้วยค่าต่อเติมรถยนต์พร้อมอุปกรณ์ พบว่า โจทก์ขายรถยนต์ที่ต่อเติมพร้อมอุปกรณ์ไปในราคาที่สูงกว่าราคาทุนและบางคันต่ำกว่าราคาทุน เจ้าพนักงานประเมินจึงนำผลขาดทุนจากการขายมาหักด้วยส่วนลดที่โจทก์ได้รับจากบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด เป็นผลขาดทุนสุทธิจากการขายและรวมยอดขาดทุนสุทธิทั้งสิ้นนำมาเป็นยอดขายเพิ่มตามผลการตรวจสอบ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์ชี้แจ้งถึงเหตุที่ขายรถยนต์ไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนแต่โจทก์ไม่สามารถชี้แจ้งได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงถือว่าโจทก์ขายรถยนต์ไปในราคาที่ขาดทุนโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงนำผลขาดทุนจากการขายคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ตามผลการตรวจสอบดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์ยื่นรายรับไว้ขาดในปี 2534 จำนวน 263,436 บาท และปี 2535 จำนวน 735,961.24 บาท ส่วนประเด็นรายจ่ายต้องห้ามกรณีค่าติดตามหนี้ปี 2535 จำนวน 3,195,000 บาท และค่าส่งเสริมการขายปี 2535 จำนวน 2,426,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบเอกสารการลงบัญชีพบว่าโจทก์ตั้งบัญชีเป็นรายการค้างจ่ายไว้และได้จ่ายเงินดังกล่าวให้พนักงานเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 จึงเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายเงินในรอบระยะเวลาบัญชีที่ลงบัญชีเป็นรายจ่ายไว้หรือเป็นรายจ่ายซึ่งควรได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 35 ตรี (9) เมื่อปรับปรุงการคำนวณกำไรสุทธิใหม่โจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมในรอบระยะเวลาบัญชี 2534 เป็นเงิน 1,004,799.38 บาท รอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เป็นเงิน 5,614,400.68 บาท ชั้นพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดภาษีให้โจทก์คงเรียกเก็บ 4,138,220.68 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 กรณีไม่มีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ลงบัญชีราคาขายรถยนต์ไว้ไม่ครบถ้วนไม่ตรงกับความเป็นจริง และขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ สำหรับกรณีการลงบัญชีราคาขายรถยนต์ไว้ไม่ครบถ้วนนั้น โจทก์อุทธรณ์ว่าใบเสร็จรับเงินชั่วคราวและใบสั่งของชั่วคราวที่ผู้ซื้อรถยนต์นำมามอบให้แก่เจ้าพนักงานประเมินไม่ใช่เอกสารที่สมบูรณ์ที่จะนำมาถือเป็นราคาขายรถยนต์แค่ละคันของโจทก์ได้ ซึ่งโจทก์นำสืบโดยมีนายสมพงษ์กรรมการบริษัทโจทก์เบิกความว่า โจทก์ขายเฉพาะตัวรถยนต์ หากผู้ซื้อประสงค์จะดัดแปลงต่อเติมต้องตกลงกับพนักงานขายของโจทก์เอง โดยพนักงานขายจะส่งให้บริษัทไทย วี. พี. คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์และวัสดุตกแต่งรถยนต์ตีราคาค่าอุปกรณ์และวัสดุแต่งรถยนต์แล้วให้บริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด เป็นผู้ทำการดัดแปลงต่อเติมรถยนต์ โจทก์จะรับเฉพาะราคารถยนต์ ค่าอุปกรณ์และค่าดัดแปลงต่อเติมนั้นโจทก์ส่งให้แก่บริษัทผู้ขายอุปกรณ์ตกแต่งและบริษัททำการดัดแปลงต่อเติม จึงคิดค่าอุปกรณ์และค่าดัดแปลงต่อเติมเป็นราคาขายรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้ เห็นว่า ค่าอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงต่อเติมรถยนต์ตามใบเสร็จรับเงินชั่วคราวและใบส่งของชั่วคราวที่ผู้ซื้อรถยนต์มอบให้แก่เจ้าพนักงานประเมินนั้นออกออกในนามของบริษัทโจทก์พร้อมกับใบเสร็จรับเงินราคารถยนต์ แม้โจทก์จะนำสืบว่า เหตุที่ต้องทำใบเสร็จรับเงินชั่วคราวมอบให้แก่ลูกค้าในนามของโจทก์ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าว่าโจทก์ยังรับผิดชอบในกรณีที่พนักงานของโจทก์ยักยอกเงินค่าดัดแปลงต่อเติมไปนั้น ก็ขัดต่อเหตุผลเพราะบริษัทผู้รับจ้างดัดแปลงต่อเติมก็สามารถออกใบเสร็จรับเงินและรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยตรงได้ ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องเสี่ยงรับผิดชอบแทนเช่นนั้น อีกทั้งนายสมพงษ์ยังเบิกความรับว่าในส่วนการขายรถยนต์ที่ต่อเติมในราคาต่ำกว่าราคาทุนนั้นค่าดัดแปลงต่อเติมเป็นเงินทุนของโจทก์เองไม่ใช่ของลูกค้า จึงเชื่อว่าค่าดัดแปลงต่อเติมรถยนต์เป็นรายได้ของโจทก์ที่รวมอยู่ในราคาขาย การที่โจทก์ไม่นำค่าดัดแปลงตกแต่งรถยนต์มาลงบัญชีรวมกับราคารถยนต์ จึงเป็นการลงบัญชีราคาขายรถยนต์ไม่ครบถ้วนตรงกับความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินได้ขอให้โจทก์ส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบแล้ว แต่โจทก์อ้างว่าไม่ได้เก็บหลักฐานไว้เพราะเห็นว่าไม่ใช่เอกสารสำคัญที่เจ้าพนักงานประเมินนำราคาที่ขาดไปมาคำนวณเป็นรายได้ของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนกรณีที่โจทก์ขายรถยนต์บางคันในราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนโดยอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจของโจทก์ไม่คล่องตัวต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก และมีสินค้าคงเหลือจำนวนมากจึงจำเป็นต้องเร่งรัดขายรถยนต์ โจทก์ขายรถยนต์ในราคาขาดทุนเพียงร้อยละ 3 ของจำนวนรถยนต์ที่สั่งซื้อเพื่อหาเงินสดมาหมุนเวียนชำระดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีอัตราสูงกว่ายอดการขาดทุน จึงเป็นการขายรถยนต์ขาดทุนที่มีเหตุอันสมควรนั้น เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการเพื่อแสวงหากำไรโดยกู้ยืมเงินมาลงทุน ตอนที่โจทก์ขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่ปรากฏว่าราคาของรถยนต์ในขณะนั้นลดลง และโจทก์ก็ไม่ได้ประสบกับการขาดทุน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องขายรถยนต์ในราคาที่ขาดทุน อีกทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลการขายขาดทุนแก่เจ้าพนักงานประเมินได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาทุนโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาผลขาดทุนจากการขายมาคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มขึ้นจึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองและข้อสามมีว่า ค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท เป็นรายจ่ายที่โจทก์สามารถนำไปหักในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้หรือไม่ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์หักรายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายได้เพียง 1,770,000 บาท ส่วนอีก 3,851,000 บาท ไม่หักให้อ้างว่าเป็นรายจ่างต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) และ (18) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยให้โจทก์อุทธรณ์ว่ารายจ่ายจำนวนดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่าเป็นรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น ไม่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วให้โจทก์หักรายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายได้เพียง 1,777,000 บาท ส่วนที่ไม่ให้หักจำนวน 3,851,000 บาท ให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้นำรายจ่ายจำนวน 3,851,000 บาท มาหักในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9) และ (18) เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไว้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้เสียภาษีอากรเฉพาะประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้และผู้ต้องเสียภาษีอุทธรณ์เท่านั้น จะไปตั้งประเด็นใหม่นอกเหนือไปจากประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหาได้ไม่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่ารายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท เป็นรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วให้หักเป็นรายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 1,770,000 บาท ส่วนที่เหลือไม่ให้หักโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับจึงห้ามมิให้นำมาหักตามมาตรา 65 ตรี (9) และ (18) คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคระกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่า รายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท ของโจทก์มิใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ แต่การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้หักเป็นรายจ่ายได้เพียง 1,770,000 บาท ส่วนอีก 3,851,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ให้นำมาหักโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้นำมาหักนั้น เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เรียกพนักงานผู้มีรายชื่อตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ได้รับเงินค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายมาไต่สวน โดยไม่มีประเด็นเหล่านี้ในชั้นเจ้าพนักงานประเมินการพิจารณาดังกล่าวของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ตั้งประเด็นไว้ในชั้นไต่สวนเพื่อทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20 และ 32 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสชี้แจงแสดงพยานหลักฐานและอุทธรณ์โต้แย้งตามลำดับขั้นตอนได้ได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับไต่สวนเสียเองในประเด็นอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้มีคำสั่งไว้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่าค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายจำนวน 5,621,000 บาท มิใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น โจทก์จึงมีสิทธินำรายจ่ายทั้งจำนวนดังกล่าวมาหักในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาในประเด็นนี้มา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสี่มีว่า สมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเบี้ยปรับของโจทก์ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 คงมีอยู่ตามคำวินิจฉัยในอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกเท่านั้น และได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ลงบัญชีราคาขายรถยนต์ไม่ครบถ้วนและขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่มีเหตุอันสมควรเห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมการค้ำประกันหนี้ค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งมา แม้โจทก์จะได้อุทธรณ์การประเมินก็ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมินไปก่อน หากผลที่สุดโจทก์ไม่ต้องชำระหรือชำระน้อยกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ โจทก์มีสิทธิไดคืนได้คืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ การที่โจทก์เลือกที่จะนำหนังสือรับรองของธนาคารมาค้ำประกันหนี้ค่าภาษีของโจทก์โดยโจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารผู้ค้ำประกันร้อยละ 1.7 ต่อปี จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เลือกวิธีดังกล่าวเอง โจทก์จึงต้องรับภาระดังกล่าวไป อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 6710010/2/100107 ลงวันที่ 23 กันยายน 2540 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ กจ/20/2545 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 เฉพาะในส่วนรายจ่ายค่าติดตามหนี้และค่าส่งเสริมการขายที่เหลือจำนวน 3,851,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share