คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยมาแล้ว 2 นัดโดยนัดแรกอ้างว่าจำเลยที่ 2 ป่วยและส่งหมายให้พยานไม่ได้ นัดที่ 2 อ้างว่าตรงกับที่นัดสืบพยานไว้ที่ศาลอื่น และส่งหมายให้พยานไม่ได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีโดยกำชับไว้ว่าในนัดหน้าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกไม่ว่าเหตุใดครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 3 จำเลยขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าทนายจำเลยขอถอนตัวจากการเป็นทนาย การที่ทนายจำเลยถือโอกาสยื่นคำร้องขอถอนตัวโดยมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องในวันนัดสืบพยานจำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล ทั้งไม่ปรากฏว่าทนายความผู้นั้นแจ้งการขอถอนตัวให้จำเลยทราบ การยื่นคำร้องขอถอนตัวของทนายความจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 ประกอบกับการขอเลื่อนคดีนัดที่ 2 ของจำเลยมีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาให้วันนัดตรงกันเพื่อนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนคดี พฤติการณ์ดังกล่าวมาเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า หาใช่ขอเลื่อนคดีเพราะมีเหตุจำเป็นแท้จริงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว อาคารและตลาดซึ่งปลูกในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตึกแถวจากโจทก์ ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินและทรัพย์สินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน2,000,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว

จำเลยทั้งสองให้การว่าไม่ได้ร่วมทำละเมิด ก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปมีกำหนด 10 ปี โดยโจทก์เรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยเตือนให้โจทก์ดำเนินการเช่าต่อ แต่โจทก์เพิกเฉยค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 1ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทำสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่าให้จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไป ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยขอเลื่อนคดี 2 ครั้ง ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 3 ทนายจำเลยทั้งสองมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการประวิงคดี จึงไม่อนุญาตให้เลื่อน และถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ เลื่อนไปสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ออกไปจากทรัพย์สินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์1,170,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 117,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยได้ขอเลื่อนคดีมา 2 นัดแล้ว โดยในนัดแรกจำเลยขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ป่วยและพยานจำเลยคนอื่น ๆ ก็ส่งหมายเรียกพยานบุคคลให้ไม่ได้ ศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้เลื่อนคดี ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 2 ฝ่ายจำเลยก็ขอให้เลื่อนคดีอีก คราวนี้อ้างว่า จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีอาญาที่ศาลแขวงพระนครใต้ และวันนี้เป็นวันนัดสืบพยานที่ศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งได้นัดไว้โดยไม่ทราบวันนัดในคดีนี้ เนื่องจากทนายในคดีอาญาดังกล่าวเป็นคนละคนกับทนายในคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่สามารถมาเบิกความในคดีนี้ในวันนี้ได้ ส่วนพยานจำเลยคนอื่นส่งหมายเรียกพยานบุคคลให้ไม่ได้ ศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี โดยกำชับไว้ว่าในนัดหน้าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกไม่ว่าเหตุใดและกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยให้ตามวันที่จำเลยขอนัด ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 3 ฝ่ายจำเลยก็ขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าทนายจำเลยขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลย เช่นนี้ เห็นว่า การที่ทนายจำเลยถือโอกาสยื่นคำร้องขอถอนตัวโดยมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องในวันนัดสืบพยานจำเลย และทนายจำเลยไม่มาศาลด้วย การยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายให้จำเลยทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่าทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้วแต่อย่างใด ดังนั้น การยื่นคำร้องขอถอนตัวของทนายความของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งบัญญัติว่า “ทนายความที่ตัวความได้ตั้งแต่งให้เป็นทนายในคดีจะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้วเว้นแต่จะหาตัวความไม่พบ ฯลฯ” การที่ทนายความของจำเลยขอถอนตัวเช่นนี้เท่ากับเป็นช่องทางให้จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีได้โดยอ้างว่าเป็นความจำเป็นที่จำเลยไม่อาจหาทนายความมาว่าความในวันนัดวันนี้ได้ทัน เท่ากับเป็นการร่วมกันบีบบังคับให้ศาลต้องเลื่อนคดีไปทั้งที่ไม่มีเหตุสมควรต้องเลื่อน แม้คำร้องของทนายจำเลยที่ขอถอนตัวนั้นเท่ากับขอเลื่อนคดีอยู่ในตัว แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งอนุญาตให้ถอนตัว ทนายจำเลยก็ยังมีฐษนะเป็นคู่ความอยู่ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นก็มิได้สั่งอนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวแต่ประการใด เพราะคงเนื่องจากการขอถอนตัวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจและใช้วิจารณญาณที่จะพิเคราะห์สั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีได้ว่าสมควรจะให้เลื่อนไปหรือไม่ไม่จำเป็นที่จะต้องสั่งคำร้องขอถอนตัวของทนายจำเลยก่อนเสมอไป สำหรับคดีนี้เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์ขอเลื่อนคดีของจำเลยในนัดที่ 2 แล้ว เห็นว่า การที่คดี 2 คดีไม่ได้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลเดียวกัน ย่อมเป็นการยากที่จะเป็นการบังเอิญไปนัดวันตรงกันกับอีกคดีหนึ่งซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้วในอีกศาลหนึ่ง จึงชวนให้ระแวงสงสัยว่าอาจมีการกระทำโดยเจตนาให้วัดนัดตรงกันเพื่อนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนคดีก็ได้เพราะถึงแม้เป็นทนายความคนละคนก็จริงแต่ตัวความเป็นคนคนเดียวกัน คือจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้ทราบวันนัดในคดีใดที่นัดไว้ก่อน แต่ศาลชั้นต้นก็จะเป็นที่จะต้องให้จำเลยเลื่อนคดีในนัดที่ 2 ได้ ซึ่งก็ได้กำชับไว้ว่า ในนัดหน้าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีกไม่ว่าเหตุใด ดังนั้นการที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยมายื่นอย่างกะทันหันในวันนัดสืบพยานจำเลยในนัดที่ 3 โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบก่อนวันนัด จึงเป็นการผิดปกติวิสัย และจำเลยก็ฉวยโอกาสยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยอาศัยเหตุที่ทนายจำเลยขอถอนตัวจากการเป็นทนายของคนเพื่อทำให้เห็นว่าจำเลยตกอยู่ในนภาวะเสียเปรียบในการต่อสู้คดี อันจะถือว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวมาเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้าหาใช่ขอเลื่อนคดีเพราะมีเหตุจำเป็นแท้จริงไม่ และไม่มีกฎหมายให้ผ่อนผันการขอเลื่อนคดีแก่คดีมีทุนทรัพย์สูงดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยเสียนั้นจึงเป้นการชอบแล้ว สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาที่ว่า ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประวิงพิพาทและสิทธินำสืบของจำเลยคลาดเคลื่อนไปนั้น เห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีจำเลยต่อไปเพราะศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยเสียแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share