คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ทราบจำนวนและน้ำหนักที่แน่นอนโดยรับเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีสูบและจำเลยขับรถสิบล้อไปตามถนนสาธารณะ หมู่ที่ 7 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค อำเภอไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ตามมาตรา 158 (5) แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่ามีการตรวจพบในขณะที่ขับขี่นั้นผู้ขับขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกาย ส่วนในร่างกายของจำเลยจะมีสารเสพติดตกค้างอยู่เท่าใดนั้น ขณะเกิดเหตุกฎหมายไม่ได้กำหนดปริมาณไว้ว่ามีสารเสพติดตกค้างอยู่ในร่างกายเท่าใดจึงมีความผิดและคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 มาตรา 8, 28 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูกการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 6 เดือน แจ้งคำสั่งไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ทราบจำนวนและน้ำหนักที่แน่นอน จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฎีกาว่าการที่โจทก์ระบุขอคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 มาตรา 8, 28 โดยมิได้อ้างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 ที่แก้ใหม่ เท่ากับโจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ทราบจำนวนและน้ำหนักที่แน่นอนโดยรับเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีสูบ และจำเลยขับรถสิบล้อไปตามถนนสาธารณะ หมู่ที่ 7 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ตามมาตรา 158 (5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วมีว่ามีการตรวจพบในขณะที่ขับขี่นั้นผู้ขับขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกาย ส่วนในร่างกายของจำเลยจะมีสารเสพติดตกค้างอยู่เท่าใดนั้นขณะเกิดเหตุกฎหมายไม่ได้กำหนดปริมาณไว้ว่ามีสารเสพติดตกค้างอยู่ในร่างกายเท่าใด จึงมีความผิดและคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ประกอบกับคดีไม่จำเป็นต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ทั้งคำขอท้ายฟ้องระบุอ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ ซึ่งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ เป็นบทมาตราความผิด และมาตรา 157 ทวิ เป็นบทกำหนดโทษและอ้างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 มาตรา 8, 28 ซึ่งแก้ไขมาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ แต่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 ออกใช้บังคับโดยแก้ไขมาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้น ตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ยังคงเรียกว่ามาตรา 43 ทวิ และมาตรา 157 ทวิ อยู่นั่นเอง เมื่อขณะจำเลยกระทำความผิด การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มิใช่เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57 ต้องรับโทษตามมาตรา 91 แม้โจทก์จะมิได้อ้างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 ที่แก้ไขใหม่ แต่โจทก์ได้อ้างกฎหมายเดิมตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ ซึ่งเป็นบทมาตราความผิด และมาตรา 157 ทวิ ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษ อันมีบทบัญญัติลงโทษผู้เสพยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ การที่ขณะจำเลยกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 ที่แก้ไขใหม่ ดังกล่าวออกใช้บังคับโดยแก้ไขมาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้น ตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ยังคงเรียกว่า มาตรา 43 ทวิ และมาตรา 157 ทวิ อยู่นั่นเอง เมื่อโจทก์อ้างกฎหมายเดิมซึ่งมีความผิดอยู่โดยบัญญัติห้ามมิให้ผู้เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษซึ่งรวมถึงเมทแอมเฟตามีนด้วย จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้อ้างมาตราที่ลงโทษจำเลยมาสมบูรณ์แล้วคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถสิบล้อไปตามถนนสาธารณะจำเลยย่อมไม่อาจใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้ดังเช่นในภาวะผิดปกติ จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับจำเลยได้ทุกขณะ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 157 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 และให้ใช้มาตรา 157/1 แทน โดยบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ตามมาตรา 157 ทวิ วรรคสอง เดิมที่ถูกยกเลิก และมาตรา 157/1 วรรคสอง ที่บัญญัติใหม่ คงใช้ข้อความเหมือนเดิม กฎหมายที่บัญญัติใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษายืน

Share