คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรทั้งสามของโจทก์และโจทก์ต้องขาดไร้ผู้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์และโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า บุตรทั้งสามของโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนด้วยนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรทั้งสามของโจทก์เป็นผู้เยาว์ยังฟ้องหรือคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรทั้งสามคนด้วยโดยปริยาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุวัตชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 28,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – 5056 สงขลา ด้วยความประมาท เป็นเหตุประมาท เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ก – 5389 สงขลา ที่นายสุวัต สามีของโจทก์ขับ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องวันที่ 9 เมษายน 2545 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนฟ้องแย้ง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องแย้งทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุวัตหรือสุวัฒน์มีบุตรด้วยกัน 3 คน ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – 9056 สงขลา ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สงขลา 8 ก – 5389 ซึ่งมีนายสุวัตเป็นผู้ขับที่บริเวณทางแยกถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 18 ตัดกับถนนประชาอุทิศ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเหตุให้นายสุวัตถึงแก่ความตาย และศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุวัตมีส่วนประมาทร่วมด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์จะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรผู้เยาว์ทั้งสามได้ด้วยหรือไม่ และควรให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าโจทก์เป็นกริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุวัต ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่เด็กชายสุธน อายุ 12 ปี เด็กหญิงแคทรียา อายุ 7 ปี และเด็กหญิงวริษา อายุ 3 ปี ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรทั้งสามของโจทก์และโจทก์ต้องขาดไร้ผู้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์และโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า บุตรทั้งสามของโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนด้วยนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรทั้งสามของโจทก์เป็นผู้เยาว์ยังฟ้องคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรทั้งสามคนด้วยโดยปริยาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามได้ ศาลจึงต้องกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่บุตรทั้งสามของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดด้วย สำหรับค่าขาดไร้อุปการะของตัวโจทก์เอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดให้เป็นเงิน 50,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ส่วนค่าขาดไร้อุปการะของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามคนของโจทก์นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะให้บุตรของโจทก์คนละเท่าใดต่อเดือนหรือต่อปีเพราะเหตุใดเป็นระยะเวลานานเท่าใด และในชั้นพิจารณาโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าบุตรของโจทก์แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายเดือนละหรือปีละเท่าใด เมื่อพิเคราะห์ถึงอาชีพการงานของนายสุวัตก่อนถึงแก่ความตาย ฐานะทางครอบครัวของโจทก์ซึ่งไม่ดีนัก ตลอดจนคำนึงถึงความประมาทของทั้งสองฝ่ายประกอบด้วยแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามของโจทก์เป็นการเหมาเฉลี่ยคนละ 50,000 บาท รวม 3 คน เป็นเงิน 150,000 บาท เมื่อรวมกับในส่วนของโจทก์อีก 50,000 บาทแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นการส่วนตัวไม่ได้ฟ้องแทนบุตรทั้งสามและกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนคำฟ้องของโจทก์แทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกาแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share