คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ค. กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำรายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทและส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13036 เลขที่ดิน 79 ตำบลในเมือง (พระลับ) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และบ้านเลขที่ 269/8 ให้โจทก์ แต่การทำสัญญาขายฝากเป็นการอำพรางการทำสัญญาจำนองที่บิดาของจำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินจากโจทก์ 1,700,000 บาท จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาขายที่ดินและบ้านพิพาท และจำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับเงิน 3,500,000 บาท ตามสัญญาขายฝาก โจทก์จึงไม่มีสิทธิขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารขนย้ายสิ่งของออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13036 เลขที่ดิน 79 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และบ้านเลขที่ 269/8 ซึ่งอยู่ในที่ดินดังกล่าวพร้อมส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป และให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะขนย้ายสิ่งของออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลจำนวน 5,720 บาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยทั้งสามได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้โจทก์นำมาชำระต่อศาลในนามของจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า นายคำสิงห์บิดาจำเลยทั้งสามเป็นหนี้ต้องชำระเงินกู้ที่มีที่ดินพิพาทจำนองเป็นประกันแก่นายบดินทร์ นายคำสิงห์ไปกู้เงินโจทก์ 2,000,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวโดยเสนอให้จำเลยทั้งสามจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน แต่โจทก์ต้องการให้ทำสัญญาขายฝากมิฉะนั้นจะไม่ให้กู้ จำเลยทั้งสามจึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเลขที่ 269/8 เป็นเงิน 3,500,000 บาท ไว้แก่โจทก์ โจทก์ได้ทำรายการคิดชำระเงินไว้ตามเอกสารหมาย ล.5 ต่อมาเมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามออกไปและส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทกับชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เห็นว่า นายคำสิงห์กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมโจทก์โดยมีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกันเป็นเงิน 2,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ได้ตกลงตามนั้นโดยจำเลยทั้งสามยิมยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์ โดยกำหนดค่าไถ่ถอนไว้ 3,500,000 บาท และมีการทำรายการคิดการชำระเงินกันตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.5 ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อความในบรรทัดที่ 2 ว่า “ดอก 300,000” ซึ่งจำเลยทั้งสามนำสืบว่าหมายถึงดอกเบี้ยที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้า แม้โจทก์จะนำสืบอ้างว่า โจทก์ได้ชำระเงินจำนวนนี้ให้นายคำสิงห์เป็นเงินสด แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายคำสิงห์ได้ร้องขอเช่นนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดให้น่าเชื่อได้ว่าโจทก์จะจ่ายเงินจำนวนมากถึง 300,000 บาท ให้นายคำสิงห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจ่ายเป็นเงินสดแทนที่จะจ่ายเป็นเช็คอันเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากการจ่ายชำระเงินจำนวนอื่น และที่โจทก์อ้างว่าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.5 เป็นการคิดรายการที่ต้องจ่ายในการทำนิติกรรมจำนอง มิใช่นิติกรรมขายฝากนั้นตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.5 บรรทัดที่ 3 และที่ 4 มีข้อความว่า “ค่าภาษี 104,721 และค่าภาษี 3,500″ อันเป็นจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนเงิน 104,646 บาท และ 3,411 บาท ในใบเสร็จรับเงินที่ระบุว่าเป็นใบเสร็จรับเงินจดทะเบียนขายฝาก จึงไม่น่าที่จะเป็นการคิดรายการที่ต้องจ่ายในการทำนิติกรรมจำนองดังที่โจทก์อ้าง พยานหลักฐานโจทก์จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือและฟังได้ว่าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.5 เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นแสดงรายการจ่ายเงินในการจดทะเบียนขายฝากตามหนังสือสัญญาขายฝาก และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 300,000 บาท ด้วย และเมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ประกอบกับโจทก์เองก็เบิกความรับว่า นายคำสิงห์ติดต่อเพื่อกู้ยืมเงินโจทก์จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน และต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อหักดอกเบี้ย 300,000 บาท ไว้ล่วงหน้าตามที่จำเลยทั้งสามอ้างแล้ว ไม่ปรากฏว่าดอกเบี้ยอีก 312,000 บาท ตามที่จำเลยทั้งสามคำนวณไว้ จำเลยทั้งสามจะจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อใด พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า ในการชำระหนี้เงินกู้ยืมทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปให้ชำระดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงชำระต้นเงินประกอบกับตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินได้ระบุค่าไถ่ทรัพย์ไว้สูงถึง 3,500,000 บาท มากกว่าจำนวนเงินที่กู้ยืมกันมาก ดังนั้น การไม่กำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้จึงไม่เป็นพิรุธถึงกับทำให้พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังไม่ได้แต่อย่างใด ส่วนข้ออ้างในฎีกาของโจทก์ข้ออื่นๆ นั้น ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนจำเลยทั้งสาม

Share