คำวินิจฉัยที่ 53/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๓/๒๕๔๗

วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

ศาลจังหวัดหล่มสัก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดหล่มสักโดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง อำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ นายอำนวย เกษบำรุง ที่ ๑ นายศักดิ์ชัย ธนเมธีกุล ที่ ๒ นายนิคม บุปผาชาติ ที่ ๓ นายสุรพงษ์ แจ่มจำรัส ที่ ๔ นายสมชาย เตรียมเกียรติคุณ ที่ ๕ นายสุรศักดิ์โฆษิตานนท์ ที่ ๖ นายทนง เหล่าวาณิช ที่ ๗ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ ที่ ๑ นายวุฒิชัย เลิศกวีอนันต์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดหล่มสัก เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๖๑/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๗ โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งสุขลำใย ได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน จำนวน ๘ หุ้น หุ้นละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม ภ.บ.ท. ๕ เลขสำรวจที่ ๒๗๑ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งใช้ชื่อว่า “ไร่เพียงฟ้า” หรือ “เพียงฟ้ารีสอร์ท” เพื่อประกอบกิจการให้เช่าที่พักอาศัยแก่นักท่องเที่ยวและให้บริการต่าง ๆ ซึ่งเดิมนายบุญส่ง สุขลำใย เป็นเจ้าของและเป็นผู้ครอบครอง ทำประโยชน์ โดยตกลงให้นายบุญส่งฯ เป็นผู้บริหาร หุ้นส่วนทั้งแปดได้นำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งแยก เป็น ภ.บ.ท. ๕ เลขสำรวจที่ ๔๕/๒๕๓๗ถึง ๕๕/๒๕๓๗ แล้วร่วมกันครอบครองและเสียภาษี ต่อที่ว่าการอำเภอเขาค้อมาโดยตลอด ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ ได้ติดต่อขอชำระภาษีและยื่นคำขอเพื่อทำการสำรวจที่ดินสอบสวนสิทธิการครอบครองการทำประโยชน์ เนื่องจากครบรอบระยะเวลาการสำรวจ ๔ ปี ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่ออำเภอ เขาค้อ แต่ได้รับแจ้งว่าให้ไปติดต่อชำระกับจำเลยที่ ๑ ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เนื่องจาก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ทางอำเภอจะต้องถ่ายโอนการยื่นชำระภาษีและการยื่นขอทำการสำรวจที่ดินไปยัง จำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่ง ฯ ได้ติดต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อทำการสำรวจและรับชำระภาษีแต่ได้รับแจ้งว่ายังชำระภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้ต้องรอทำการสำรวจที่ดินใหม่ก่อน โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ ได้ติดต่ออีกหลายครั้งแต่ไม่มีผลคืบหน้า ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นายบุญส่งฯ ถึงแก่ความตาย ภรรยานายบุญส่งฯเข้าครอบครองแทนและขยายกิจการ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๔ โจทก์ทั้งเจ็ดมอบหมายให้นายณัชพงศ์ เกษบำรุง ไปติดต่อจำเลยที่ ๑ แต่ได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้ตรวจสอบให้รอปลายปี ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๔๔ โจทก์ทั้งเจ็ดได้ไปยื่นคำขอทำการสำรวจและชำระภาษีบำรุงท้องที่ ทางจำเลยที่ ๑ จึงแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวซ้ำซ้อนกับที่ดินของบุคคลอื่นไม่อาจดำเนินการสำรวจและรับชำระภาษีได้ โจทก์จึงติดต่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งอ้างว่า ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยได้ซื้อที่ดินมาจากนายบุญส่ง สุขลำใย ในราคา ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใด ๆ มาแสดง จำเลยที่ ๒ จึงขอเรียกเงินจากโจทก์ทั้งเจ็ด จำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งเจ็ดทราบจากคนงานในไร่เพียงฟ้าว่าจำเลยที่ ๒ เข้าไปครอบครอง ทำประโยชน์และรื้อถอนอาคารร้านค้า ทำให้โจทก์เสียหาย และเมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ดำเนินการสอบสวนสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ด และไม่ออกหมายเรียกโจทก์ทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดิน เลขที่ ๔๕/๒๕๓๗ ถึง ๕๕/๒๕๓๗ ไปสอบสวนสิทธิตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา แต่กลับไปออกแบบรายการที่ดินเป็นชื่อจำเลยที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ และรับชำระภาษีบำรุงท้องที่จากจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ ทำการสอบสวนสิทธิและทำการสำรวจที่ดินตาม ภ.บ.ท.๕ เลขที่ ๔๕/๒๕๓๗ ถึง ๕๕/๒๕๓๗ และออกหลักฐานแบบแสดงรายการที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบันให้มีชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินและชำระภาษีบำรุงท้องที่ และออกใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบันให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๒ ออกจากแบบแสดงรายการที่ดินเลขสำรวจที่ ๗๗/๒๕๔๕ ฉบับลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ และใส่ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นชื่อเจ้าของที่ดินแทน ให้จำเลยที่ ๒ พร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะที่จำเลยที่ ๒ ได้กระทำลงออกจากที่ดินโจทก์ และเพิกถอนนิติกรรมสัญญาใด ๆ ที่กระทำกับบุคคลภายนอกซึ่งสิ่งปลูกสร้างหรือภาระผูกพันในที่ดิน และซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยและใช้การได้ดี
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้รับโอนงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ และได้ประกาศกำหนดให้เจ้าของที่ดินชี้เขต แจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. ๕)เพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๔๐ และพ.ศ. ๒๕๔๑ แต่โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ ไม่เคยติดต่อชี้เขต แจ้งจำนวนที่ดิน ยื่นสำรวจรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีประจำปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๕ต่อจำเลยที่ ๑ มีแต่จำเลยที่ ๒ มายื่นขอชำระภาษีในที่ดินแปลงพิพาทและที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี๒๕๔๐อันเป็นการแย่งการครอบครองโดยโจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ ทราบมาตลอดและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการครอบครองที่ดินของตนแต่ประการใด ตลอดระยะเวลาที่ตนครอบครองที่ดินพิพาททางส่วนราชการที่ดินอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ได้เข้าทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็พบว่าตนเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวโจทก์ทั้งเจ็ดก็ไม่คัดค้านการสำรวจที่ดินของหน่วยงานของรัฐ แต่ประการใด เมื่อต่อมาทางอำเภอเขาค้อแจ้งให้ตนไปชำระภาษีบำรุงท้องที่ตนจึงได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่ทางราชการตลอดมา
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เพราะโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ดำเนินการออกแบบรายงานที่ดินเป็นชื่อของจำเลยที่ ๒ และรับชำระภาษีบำรุงท้องที่จาก จำเลยที่ ๒ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ทั้งเจ็ดทำคำชี้แจงเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีคำขอให้ศาลหรือคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุน ขัดต่อข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๒ จึงมีรายการไม่ครบถ้วนตามแบบที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยไม่จำต้องทำความเห็นเพื่อส่งให้ศาลปกครองหรือคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และการที่โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เพื่อบังคับให้จำเลยที่ ๑ ทำการสอบสวนสิทธิในที่ดินพิพาท และออกหลักฐานแบบแสดงรายการที่ดินให้มีชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดและออกใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๒ ออกจากแบบแสดงรายการที่ดินเลขที่ ๗๗/๒๕๔๕และใส่ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินแทน เป็นกรณีพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน อันเป็นการฟ้องเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยเฉพาะ มิใช่เป็นการกระทำทางปกครองหรือหน้าที่ในการปฏิบัติราชการทางปกครองแต่อย่างใด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดหล่มสักพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำฟ้องถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.๒๕๐๘ ที่จะต้องออกไปสำรวจที่ดินและรับชำระภาษีบำรุงท้องที่จากโจทก์ทั้งเจ็ดแต่มิได้ดำเนินการให้ กรณีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดได้อ้างว่า จำเลยที่๑ละเลยต่อหน้าที่ในการสอบสวนสิทธิและทำการสำรวจที่ดินและออกหลักฐานแบบแสดงรายการที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องเพื่อขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ ทำการสอบสวนและสำรวจที่ดินพิพาทและออกหลักฐานแบบแสดงรายการที่ดินให้มีชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดและให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๒ ออกจากแบบแสดงรายการที่ดินเลขที่ ๗๗/๒๕๔๕ และใช้ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินแทน และ จำเลยที่ ๑ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับโอนงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ และได้ประกาศกำหนดให้เจ้าของที่ดินชี้เขตแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. ๕) เพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๔๐และพ.ศ. ๒๕๔๑ แต่โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ ไม่เคยติดต่อชี้เขต แจ้งจำนวนที่ดิน ยื่นสำรวจรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๕ ต่อจำเลยที่ ๑ และที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กรณีจึงต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ กับจำเลยที่ ๒ ว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน ซึ่งการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ และศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินคือศาลยุติธรรม ซึ่งคดีนี้คือศาลจังหวัดหล่มสัก

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๒๗๖ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับ การที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นในการสำรวจและจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากเจ้าของที่ดิน โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินที่เป็นบุคคลหรือ คณะบุคคลไม่ว่าจะป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดภายในเดือนมกราคมของปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดิน และยื่น เสียภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินของผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตั้งอยู่หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดโดยประกาศล่วงหน้าไว้ ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายน ของทุกปี ตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และ มาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นการกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
ข้อเท็จจริงตามฟ้องอ้างว่า โจทก์ทั้งเจ็ดได้ร่วมกับนายบุญส่ง สุขลำไยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม ภ.บ.ท. ๕ เลขสำรวจที่ ๒๗๑ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลทุ่งสมออำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์และเสียภาษีต่อที่ว่าการอำเภอเขาค้อ มาโดยตลอด เมื่อปี ๒๕๔๑ซึ่งครบรอบระยะเวลา การสำรวจ ๔ ปี ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘โจทก์ทั้งเจ็ดได้ติดต่อขอชำระภาษีและ ยื่นคำขอเพื่อทำการสำรวจที่ดินสอบสวนสิทธิการครอบครองการทำประโยชน์ต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งรับโอนงานดังกล่าวมาจากอำเภอเขาค้อ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมดำเนินการให้ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๑ จึงแจ้งว่าไม่อาจดำเนินการสำรวจและรับชำระภาษีให้ได้ เพราะที่ดินดังกล่าวซ้ำซ้อนกับที่ดินของจำเลยที่ ๒ โดยได้ออกแบบรายการที่ดินพร้อมทั้งรับชำระภาษีบำรุงท้องที่เป็นชื่อของจำเลยที่ ๒ แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยที่ ๑ ทำการสอบสวนสิทธิ สำรวจที่ดินพิพาท และออกหลักฐานแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.๕) ให้เป็นชื่อโจทก์ทั้งเจ็ด และให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๒ ออกจากแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.๕) และใช้ชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินแทน จำเลยที่ ๑ ให้การว่าในการรับโอนงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าวได้ประกาศกำหนดให้เจ้าของที่ดินชี้เขตแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท. ๕) เพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่โจทก์ทั้งเจ็ดและนายบุญส่งฯ ไม่เคยติดต่อชี้แนวเขต แจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน หรือยื่นสำรวจรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีต่อจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด คงมีแต่จำเลยที่ ๒ มายื่นขอชำระภาษีในที่ดินแปลงดังกล่าว เห็นว่า แบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.๕ เป็นหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินการที่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือจำเลยที่ ๒ จะมีชื่อในแบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.๕ ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดังกล่าว คดีไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดคดีจึงมีประเด็นสำคัญว่าจำเลยที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ในการสำรวจที่ดินและออกแบบแสดงรายการที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอำนวย เกษบำรุง ที่ ๑ นายศักดิ์ชัย ธนเมธีกุล ที่ ๒ นายนิคม บุปผาชาติ ที่ ๓ นายสุรพงษ์ แจ่มจำรัส ที่ ๔ นายสมชาย เตรียมเกียรติคุณ ที่๕ นายสุรศักดิ์ โฆษิตานนท์ ที่ ๖ นายทนง เหล่าวาณิช ที่ ๗ โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ ที่ ๑ นายวุฒิชัย เลิศกวีอนันต์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองพิษณุโลก

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share