คำวินิจฉัยที่ 52/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๒/๒๕๔๗

วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกัน ในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายกรธวัช ปภิวัตม์ และ นายณัฐวุฒิ โอษธีศ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิภาลิ้มแพรวพรรณ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อ ศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๔๖/๒๕๔๖ ข้อเท็จจริงสรุปได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของนางนิภา ลิ้มแพรวพรรณ ตามคำสั่งของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ๔๔๐๖/๒๕๒๕ โดยกองมรดกดังกล่าวประกอบด้วยโฉนดที่ดินจำนวน ๕ แปลง คือ
๑. โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๔๐๕๒ เลขที่ดิน ๑๑๗๗ ตำบลบางกะปิ (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒ งาน ๓๔ ตารางวา
๒. โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๔๐๕๓ เลขที่ดิน ๑๑๗๘ ตำบลบางกะปิ (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๓๐ ตารางวา
๓. โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๔๐๕๔ เลขที่ดิน ๑๑๗๙ ตำบลบางกะปิ (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ งาน ๓๕ ตารางวา
๔. โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๒๕๗๗ เลขที่ดิน ๒๑๕๙ ตำบลห้วยขวาง อำเภอห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา
๕. โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๒๖๘๙ เลขที่ดิน ๖๑ ตำบลห้วยขวาง (บางซื่อ) อำเภอห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ งาน ๘๙ ตารางวา
ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๕ แปลง ผู้ฟ้องคดีได้แสดงเจตนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา โดยมิเคยแสดงเจตนายกให้ที่ดินตกเป็นที่สาธารณะและไม่เคยถูกเวนคืนแต่อย่างใด ซึ่งสำนักงานเขตห้วยขวางก็ทราบถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๐ ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ สายบางซื่อ-หัวลำโพง-พระโขนง และ สายลาดพร้าว-สาธร ในท้องที่เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงสำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ขอให้แก้ไขหลักฐานทางทะเบียนให้มีชื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งห้าแปลงซึ่งเป็นของผู้ฟ้องคดี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๒ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ได้ดำเนินการแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนให้มีชื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๕ แปลงแล้ว โดยผู้ถูกฟ้องคดีมิได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินและมิได้จ่ายเงิน ค่าทดแทนที่ดินในการเวนคืนที่ดินทั้ง ๕ แปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึง ผู้ถูกฟ้องคดีขอให้กำหนดค่าทดแทนและชำระเงินค่าทดแทนการเวนคืนหรือชดใช้ราคาที่ดินทั้ง ๕ แปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธโดยอ้างว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๕แปลง กรุงเทพมหานครได้เข้าทำการปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งของถนนเทียมร่วมมิตร โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านแนวเขต จึงเป็น ทางสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานกว่า ๑๐ ปี จึงกลายเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยปริยาย จึงเห็นสมควรไม่พิจารณากำหนดและประกาศราคาค่าทดแทนที่ดินทั้ง ๕ แปลงให้แก่ ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีว่า ที่ดินทั้ง ๕ แปลงมีสภาพเป็น ทางสาธารณประโยชน์ มติที่ไม่กำหนดค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยอุทิศที่ดินทั้ง ๕ แปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และไม่เคยให้ความยินยอมทั้งโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย จึงฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดค่าทดแทนที่ดินและชดใช้ค่าทดแทนที่ดินทั้ง ๕ แปลง เป็นจำนวนเงิน ๒๘๕,๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การว่า การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้ง ๕ แปลง ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เพราะว่าที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี และกรุงเทพมหานครได้เข้าไปปรับปรุงบริเวณดังกล่าวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนเทียมร่วมมิตรแล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มิได้สงวนสิทธิเป็นเวลาหลายปี ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นทางสาธารณะ และแม้ผู้ฟ้องคดีจะยังมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ก็ตาม ผู้ฟ้องคดีก็หามีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๖๓/๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘(๗) และไม่มีสิทธิอุทธรณ์เพื่อให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น จึงชอบด้วยเหตุและผลตามนัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้ว
นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ โต้แย้งอำนาจศาลว่า ประเด็นหลักของคดีนี้เป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ศาลปกครองไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา จนกว่าจะได้มีการชี้กรรมสิทธิ์แล้วว่าที่ดินเป็นของ ผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีหลายประเด็นเกี่ยวพันกันโดยมีประเด็นหลักแห่งคดีอยู่ที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งกันว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่กำหนดค่าทดแทนที่ดินและไม่จ่ายเงินค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินหรือชดใช้ราคาที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. ๒๕๓๐ หรือไม่ และมีประเด็นที่คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ ซึ่งแม้ประเด็นนี้จะต้องพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมก็ตาม ศาลปกครองก็มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตาม ข้อ ๔๑ วรรคสอง ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน ดังนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่กำหนดค่าทดแทนและไม่จ่ายเงิน ค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินหรือชดใช้ราคาที่ดินให้ผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ หรือไม่ต่อไปได้ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๐๔ และ มาตรา ๑๓๓๖ อีกทั้งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนและชดใช้ค่าทดแทนที่ดินจากการเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อก่อสร้างทางพิเศษ สายบางซื่อ-หัวลำโพง-พระโขนง และ สายลาดพร้าว-สาธร ในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จำนวน๕ แปลง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา และไม่เคยยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณะ รวมทั้งไม่เคยถูกเวนคืนแต่อย่างใด แต่ต่อมาภายหลังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ได้ดำเนินการแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนให้มีชื่อผู้ถูกฟ้องคดี เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๕ แปลง ตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมิได้กำหนดค่าทดแทนและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินใน การเวนคืนที่ดินทั้ง ๕ แปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดค่าทดแทนและชดใช้ค่าทดแทนที่ดินทั้ง ๕ แปลง ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มิได้สงวนสิทธิในที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นทางสาธารณะสำหรับประชาชน ใช้ร่วมกัน และแม้ผู้ฟ้องคดีจะยังมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ผู้ฟ้องคดีก็หามีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ การที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งไม่กำหนดค่าทดแทนที่ดินและชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินจากการเวนคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นสำคัญ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายกรธวัช ปภิวัตม์ และนายณัฐวุฒิ โอษธีศ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิภา ลิ้มแพรวพรรณ ผู้ฟ้องคดี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share