คำวินิจฉัยที่ 54/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๔/๒๕๔๗

วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

ศาลจังหวัดปัตตานี
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดปัตตานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วาย.คอนสตรัคชั่น โจทก์ ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลนาประดู่โดยนายกเทศมนตรีผู้แทนนิติบุคคลของเทศบาล จำเลย ต่อศาลจังหวัดปัตตานีเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๑๗/๒๕๔๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๔ โจทก์ได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์กับจำเลย วงเงินค่าจ้าง ๓,๖๔๙,๐๐๐ บาท กำหนดเริ่มทำงานวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔กำหนดทำงานแล้วเสร็จวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๔ ต่อมาวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารตามสัญญาให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยะลากิจเจริญ เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้เครดิตของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยะลากิจเจริญ สนับสนุนการเงินและวัสดุก่อสร้างในการทำงานตามสัญญา โดยโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบ แต่จำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ทำให้คู่สัญญาของโจทก์ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยะลากิจเจริญ) ไม่กล้าให้โจทก์ใช้เครดิตในการซื้อวัสดุก่อสร้าง ทำให้โจทก์ขาดสภาพคล่องและขาดความพร้อมในการทำงาน แม้ต่อมาจำเลยจะอนุมัติให้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องให้กับบริษัท ยะลานำรุ่งจำกัด แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ไม่อาจส่งมอบงานได้เสร็จตามกำหนดเวลาและต้องถูกหักเบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน ๙๒๓,๑๙๗ บาท โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ เพราะลักษณะงานที่โจทก์รับจ้างทำงานให้กับจำเลยเป็นลักษณะจ้างทำของผลสำเร็จของงานทั้งหมดคือ ความสำเร็จของสัญญา การโอนสิทธิเรียกร้องให้รับเงินค่าจ้างแทนโจทก์จึงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะนำมาพิจารณาเพราะการที่งานเสร็จหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ทั้งจำเลยยังละเลยต่อนโยบายรัฐบาลตามนัยหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๕๐๒/๔๗๗๒๙ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ กำหนดวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินกรณีโอนสิทธิเรียกร้อง โดยให้ส่วนราชการที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าซื้อทรัพย์สินหรือค่าจ้างทำของ ส่งสำเนาหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิการรับเงินค่าซื้อทรัพย์สินหรือค่าจ้างทำของให้กรมสรรพากร โดยส่วนราชการไม่ต้องแจ้งความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับโอนทราบ นอกจากนี้จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๔/๒๕๒๕ หรือที่ ๑๘๙๓/๒๕๑๒ ใจความสรุปว่า การโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ เพียงทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวก็สมบูรณ์หาจำต้องลงลายชื่อผู้รับโอนด้วยไม่ แต่การโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนซึ่งกฎหมายต้องการเพียงประการใดประการหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องการประกอบกันทั้งสองประการ การโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่จำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือโดยไม่สุจริต หรือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบและเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าปรับหรือชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๙๒๓,๑๙๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลาเป็นคดีหมายเลขดำที่๓๙๘/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๑๐๖/๒๕๔๖ แต่ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาซึ่งผู้ฟ้องคดี (โจทก์คดีนี้) ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๖๐๘/๒๕๔๖ ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่า แม้ว่าคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง แต่ความเสียหายโดยตรงที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับนั้นเกิดจากการกระทำละเมิดต่อสิทธิในการโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นสิทธิอันเกิดจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แยกต่างหากจากสัญญาทางปกครองได้ การที่ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎหรือคำสั่งใด จึงมิใช่คดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดปัตตานีเป็นคดีนี้และยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจศาลในคดีนี้
ศาลจังหวัดปัตตานีเห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นเทศบาลซึ่งเป็นท้องถิ่นที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลและถือว่าเป็นทบวงการเมืองมีหน้าที่ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๙ จึงอยู่ในความหมายของหน่วยงานทางปกครองตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยกระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ไม่ยินยอมให้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยะลากิจเจริญ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ละเมิดสิทธิโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่สุจริต หรือใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหรือละเลยหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเพราะเป็นการกระทำในคราวเดียวกันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) นอกจากนี้ สัญญาก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ของเทศบาลก็เพื่อประโยชน์ในการที่เทศบาลใช้อาคารดังกล่าวในการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครอง จึงต้องนำสัญญาดังกล่าวมาพิจารณาประกอบในการวินิจฉัยข้อหาของโจทก์ด้วย ทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ก็ได้บัญญัติให้คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา คดีพิพาทดังกล่าวจึงหมายความรวมถึงข้อโต้แย้งของคู่สัญญาอันเกิดจากสัญญาที่จำต้องนำมาวินิจฉัยประกอบข้อโต้แย้งด้วย หาได้แบ่งแยกว่าหากอ้างเหตุเรื่องละเมิดต่อสิทธิเรียกร้องในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วทำให้ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาแต่อย่างใดไม่ เพราะหากศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาแล้วก็มีหน้าที่ต้องปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี กรณีเป็นเรื่องตามกฎหมายสารบัญญัติซึ่งต้องนำมาพิจารณาภายหลัง มิฉะนั้น ก็กลับกลายเป็นว่าอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลใดก็แล้วแต่กฎหมายสารบัญญัติที่นำมาตัดสินกับคดีนั้นโดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อหาของโจทก์ ผลออกมาจะเป็นที่ประหลาดไม่สมกับเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ในส่วนที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติที่มีจุดมุ่งหมายในการแปลความเพื่อความสะดวกในการบริหารงานยุติธรรม เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทาปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามกฎหมายใดก็ตามก็เป็นขั้นตอนในชั้นพิจารณาพิพากษา และกฎหมายมาตราดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติแบ่งแยกผลของความเสียหายตามสัญญาทางปกครองว่าประเภทใดที่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา จึงต้องรวมความเสียหายจากสัญญาทางปกครองทั้งหมด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๓ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔)
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างจนเป็นเหตุให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาต้องถูกปรับเป็นเงิน ๙๒๓,๑๙๗ บาท เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎหรือคำสั่งใด ดังนั้นคดีนี้จึงมิใช่คดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
คดีนี้ จำเลยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และเพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินบริการสาธารณะภายในท้องถิ่นให้บรรลุผลอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค จึงถือได้ว่าเป็นการที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนเข้าดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญานี้จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับจำเลยคืนค่าปรับตามสัญญาหรือชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่ากับค่าปรับตามสัญญา โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖และหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๕๐๒/๔๗๗๒๙ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ในการที่จำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาแก่บุคคลภายนอก ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดยะลากิจเจริญ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ไม่กล้าให้โจทก์ใช้เครดิตในการซื้อวัสดุก่อสร้าง ทำให้โจทก์ขาดสภาพคล่องและขาดความพร้อมในการทำงานจนไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด และต้องเสียหายถูกจำเลยหักค่าปรับตามสัญญานั้น แม้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ข้อพิพาทโดยตรงจากข้อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ แต่ข้ออ้างของโจทก์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ บัญญัติให้สิทธิโจทก์ในการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งสมบูรณ์โดยเพียงทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียว หรือที่ว่าหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๕๐๒/๔๗๗๒๙ ได้กำหนดวิธีปฏิบัติกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยให้ส่วนราชการที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าซื้อทรัพย์สินหรือค่าจ้างทำของส่งสำเนาหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิการรับเงินค่าซื้อทรัพย์สินหรือค่าจ้างทำของให้กรมสรรพากร โดยไม่ต้องแจ้งความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับโอนทราบ ซึ่งแม้จำเลยจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่อยู่ภายใต้บังคับหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๕๐๒/๔๗๗๒๙แต่ก็อยู่ภายใต้บังคับหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท ๐๑๓.๔/ว ๓๖๓๒ ลงวันที่๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกัน ข้ออ้างของโจทก์เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์และจำเลยผูกพันเป็นคู่สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ว่าโจทก์และจำเลยมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อสัญญาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในฐานะคู่สัญญากันอย่างไร การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้โอนสิทธเรียกร้องในค่าจ้างทำของตามสัญญา จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวเนื่องมาจากสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญา ประกอบกับโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนค่าปรับหรือชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่ากับค่าปรับตามสัญญา เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาทางปกครองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วาย.คอนสตรัคชั่น โจทก์เทศบาลตำบลนาประดู่ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ศาลปกครองสงขลา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share