คำวินิจฉัยที่ 50/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๐/๒๕๔๗

วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเพชรบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ นายหัสดิ์ ศรีสวัสดิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาท่ายาง ที่ ๒ นายอำเภอแก่งกระจาน ที่ ๓ นางวรรณา แก้วเรืองสุข (ที่ถูกน่าจะเป็น นางวรางคณา เตียวรุ่งเรืองสุข) ที่ ๔ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๐๐/๒๕๔๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๑๔ ตั้งอยู่ตำบล(วังไคร้)วังจันทร์อำเภอ(ท่ายาง)แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๓ ไร่ ๔๗ ตารางวา โดยครอบครองต่อจากบิดามารดามาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และทำประโยชน์เรื่อยมา ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาท่ายาง ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๕ แจ้งว่าได้มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๔ ผู้รับโอนสิทธิมาจากว่าที่ร้อยเอก ชูชาติ ชูเชิด ที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๑๗ ตั้งอยู่ตำบลวังจันทร์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยการรังวัดดังกล่าวได้ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๔๑๔ ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตใช้ดุลพินิจไม่ชอบ เพราะการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเมื่อปี๒๕๒๐ ทางราชการเดินออกสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชนในท้องที่หมู่บ้านหนองมะกอก ผู้ฟ้องคดีได้นำสำรวจรังวัดแนวเขตข้างเคียง โดยทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๑๔ ดังกล่าวให้โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน และในการรังวัดแนวเขตดังกล่าวไม่มีส่วนใดของที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีติดต่อกับที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยที่ดินของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เดิมเป็นของว่าที่ร้อยเอก ชูชาติฯ ปลัดอำเภอซึ่งเคยมีข้อพิพาทกับผู้ฟ้องคดี โดยว่าที่ร้อยเอก ชูชาติฯ กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีบุกรุกที่ดิน แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี จึงเชื่อว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๑๔ ดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี จากสาเหตุข้อพิพาทดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกัน มีเจตนาทุจริต ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ทำการรังวัดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยเห็นแก่พวกพ้อง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็มิได้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน มาแต่แรก แต่ได้มาโดยซื้อมาจากว่าที่ร้อยเอก ชูชาติฯ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๕ การมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๑๗ ดังกล่าวมิได้แสดงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้เข้าทำประโยชน์และครอบครองที่ดินแต่อย่างใด และในการโอนที่ดินตกมาเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ นั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ได้มีคำสั่งให้ออกระวางใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงระวางเดิมให้แก่ว่าที่ร้อยเอก ชูชาติฯ ทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๑๗ มีระวางใหม่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีก่อนที่จะมีการโอนขายที่ดินดังกล่าว โดยมิได้พิจารณาถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด การใช้อำนาจในการโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล ผู้ฟ้องคดีเคยมีบันทึกคัดค้านถึง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และ ที่ ๓ แล้ว แต่ก็มิได้ดำเนินการพิจารณาข้อเท็จจริง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่๓๑๗ จากว่าที่ร้อยเอก ชูชาติฯมาเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งเปรียบเทียบให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดในคำสั่งดังกล่าว จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ออกระวางที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๓๑๗ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.)เลขที่ ๑๔๑๔ ของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่เท่าเดิม และไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ตัดสินว่าสิทธิในที่ดินเป็นของใคร
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ได้ทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบกรมที่ดินที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยกรมที่ดินได้มีหนังสือที่ มท๐๗๒๙.๒/ว๒๗๑๑๐ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ แจ้งให้ทราบว่าคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๕ ดังนั้นเมื่อผู้ฟ้องคดี ไม่พอใจคำสั่งเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่ไปฟ้องศาลยุติธรรมภายในกำหนด ๖๐ วัน การดำเนินการออกโฉนดให้จึงชอบแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า การออกโฉนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมาย การดำเนินการแก้ไขรูปแผนที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. ๓ ก.) นางศิริมา ศรีสวัสดิ์ ภริยาของผู้ฟ้องคดีได้มีบันทึกถ้อยคำยินยอมให้แก้ไข
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยชอบและได้ดำเนินการขอออกโฉนดโดยชอบแล้ว
ในระหว่างพิจารณาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องอำนาจศาล โดยเห็นว่าเป็นคดีพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม(ปรากฏตามความเห็นของศาลปกครองกลาง)
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่สั่งเปรียบเทียบให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการโดยไม่สุจริตและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและประสงค์ที่จะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดิน โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๗๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งเปรียบเทียบให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่จะพิจารณาว่าคำสั่งของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีเป็น ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ อันเป็นประเด็นหลักเสียก่อน และการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและอ้างว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นการเลือกปฏิบัติเห็นแก่พวกพ้องก็เป็นเพียงเจตนาว่าตนเองมีสิทธิในที่ดินดีกว่า ซึ่งการที่จะพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินอันเป็นสิทธิในทรัพย์สินนั้นจำต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ประกอบประมวลกฎหมายที่ดินที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกระวางที่ดินใหม่เปลี่ยนแปลงระวางเดิมให้แก่ว่าที่ร้อยเอก ชูชาติฯเพื่อให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๑๗ มีระวางใหม่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ก่อนโอนขายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยมิได้พิจารณาถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งที่ได้รังวัดทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่ง ผู้ฟ้องคดีได้ทำการคัดค้านไว้แล้ว อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ศาล เพิกถอนคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔เพิกถอนคำสั่งออกระวางที่ดินใหม่ที่ทับที่ดิน ของตน ให้ที่ดินของตนมีเนื้อที่เท่าเดิม และไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ และที่ ๓ เป็นผู้ตัดสินว่าสิทธิในที่ดินเป็นของใคร ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ได้ทำการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ การดำเนินการแก้ไขรูปแผนที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. ๓ ก.) โดยภริยาของผู้ฟ้องคดียินยอมให้แก้ไข และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยชอบและได้ดำเนินการขอออกโฉนดโดยชอบแล้ว ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของ ผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นสำคัญ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายหัสดิ์ ศรีสวัสดิ์ ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาท่ายาง ที่ ๒ นายอำเภอแก่งกระจาน ที่ ๓นางวรรณา แก้วเรืองสุข (ที่ถูกน่าจะเป็น นางวรางคณา เตียวรุ่งเรืองสุข) ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดเพชรบุรี

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share