แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง กำหนดโทษให้ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง กำหนดโทษให้ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ แต่ผู้กระทำผิดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า กฎหมายกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง โดยอาศัยโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีโทษจำคุกด้วย มิใช่ไม่ได้กำหนดโทษจำคุก เมื่อจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก กรณีจึงไม่อาจดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกสิบล้อไปตามถนนสายพิษณุโลก-นครสวรรค์ โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ, 3 ตรี), 127 ทวิ และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถของจำเลยไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทหนักมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ในมาตราที่โจทก์ฟ้องไม่มีการกำหนดโทษจำคุกไว้ ศาลลงโทษจำคุกจำเลยตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งโทษจำคุกเป็นโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่ใช่โทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงอยู่ในเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งส่งตัวจำเลยไปทำการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้วเข้ากระบวนการบำบัดฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ต่อไปนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง กำหนดโทษให้ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง กำหนดโทษให้ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ แต่ผู้กระทำผิดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า กฎหมายกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง โดยอาศัยโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีโทษจำคุกด้วย หาใช่ไม่ได้กำหนดโทษจำคุกดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก กรณีจึงไม่อาจดำเนินการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้จำเลยจะฎีกามาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ในระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดใด ๆ อีก น่าเชื่อว่าจำเลยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน การให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกไว้สักครั้งหนึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมและตัวจำเลยมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเพื่อให้จำเลยหลาบจำและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองของจำเลย เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย แต่เนื่องจากโทษปรับที่จะลงโทษแก่จำเลยเป็นโทษตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดแล้วได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 91 ดังกล่าว และให้ใช้ข้อความใหม่แทนซึ่งโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ดังนั้น โทษปรับตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับระวางโทษ ส่วนโทษจำคุกนั้น ตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม โทษจำคุกตามกฎหมายใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 (เดิมและที่แก้ไขใหม่) โดยปรับ 50,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดและให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.