คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5863/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ จำเลยจะนำสืบการใช้เงินต้นเงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่สำเนาสัญญากู้ยืมที่โจทก์ส่งคืนจำเลยไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนหลักฐานแห่งการกู้ยืมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถนำสืบการใช้ต้นเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ส่วนการนำสืบการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยนำสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2541 จำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 776,100 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนเสร็จสิ้นวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ถึงกำหนดจำเลยมิได้ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 848,314.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 776,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณปลายปี 2538 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2540 โจทก์นำดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ากับต้นเงิน แล้วโจทก์กับจำเลยทำสัญญากู้เงินจำนวน 459,355 บาท ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2540 จำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว โจทก์จึงนำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ในต้นเงินจำนวน 459,355 บาท มาทบเป็นต้นเงินแล้วทำสัญญากู้เงินเป็นเงินจำนวน 597,000 บาท กำหนดชำระวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เมื่อถึงวันดังกล่าวจำเลยไม่ชำระให้แก่โจทก์อีก โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ในต้นเงินจำนวน 597,000 บาท แล้วนำมาทบเป็นต้นเงินทำสัญญากู้เงินลงวันที่ 3 มิถุนายน 2541 ระบุเงินกู้ 776,100 บาท กำหนดชำระวันที่ 3 ธันวาคม 2541 โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อต้นปี 2542 โจทก์กับจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันเรื่องหนี้เงินกู้ครั้งนี้ โดยญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายช่วยไกล่เกลี่ยได้ข้อตกลงว่าโจทก์คิดต้นเงินกู้และดอกเบี้ยประเภทละ 200,000 บาท รวม 400,000 บาท จากจำเลย จำเลยตกลงและชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 312,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า ลายมือชื่อในช่องผู้กู้เอกสารหมาย จ.1, ล.1 ถึง ล.4 เป็นลายมือชื่อของจำเลย สำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารหมาย ล.6 ต้นฉบับคือเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท หรือจำนวน 312,000 บาท จำเลยมีตัวจำเลยและนายสงบ สิทธิศักดิ์ เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท แต่จำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยชำระเงินกู้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยนำสืบว่า จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท และโจทก์ได้ส่งมอบสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารหมาย ล.6 แก่จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยจะนำสืบการใช้เงินต้นเงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง เอกสารหมาย ล.6 เป็นสำเนาไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนหลักฐานแห่งการกู้ยืมแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่สามารถจะนำสืบการใช้ต้นเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และแม้ว่าการนำสืบการชำระดอกเบี้ยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง ก็ตาม แต่จำเลยไม่มีหลักฐานการชำระเงินเป็นค่าดอกเบี้ยมาแสดง มีเพียงพยานบุคคลเบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share