คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่รู้ว่าตุ๊กตาของกลางเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยขายหรือเสนอขายตุ๊กตาดังกล่าวจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ผู้เสียหาย จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศญี่ปุ่น และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ตุ๊กตาอุลตร้าแมนทิก้าและตุ๊กตาอุลตร้าแมนไดน่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ผู้เสียหายจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 เวลากลางวัน จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ของผู้เสียหาย โดยการนำตุ๊กตาอุลตร้าแมนทิก้า และอุลตร้าแมนไดน่า ซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย แก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 61, 70, 75, 76, 78 ให้สินค้าของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ตุ๊กตาอุลตร้าแมนทิก้า และตุ๊กตาอุลตร้าแมนไดน่าของโจทก์ร่วม โดยการนำตุ๊กตาดังกล่าวซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าตุ๊กตาทั้งสองตัวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ ทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมคงนำสืบแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรม (ศิลปประยุกต์) ตุ๊กตาอุลตร้าแมนทิก้าและอุลตร้าแมนไดน่า โดยมีข้อพิพาทโต้แย้งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมดังกล่าวกับนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ในทำนองอธิบายว่านายสมโพธิทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเกี่ยวกับตุ๊กตาอุลตร้าแมนดังกล่าวผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แต่มิได้นำสืบในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยให้เห็นว่าจำเลยขายตุ๊กตาอุลตร้าแมนดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสืออื่น ๆ ตามประกาศโฆษณาเอกสารหมาย จร.9 ว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของตุ๊กตาอุลตร้าแมนทั้งสองตัวและอนุญาตให้บริษัทโพร-ลิงค์ จำกัด เป็นผู้ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ก็ยังไม่พอฟังว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตุ๊กตาทั้งสองตัวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม เพราะจำเลยอาจไม่ได้อ่านประกาศโฆษณาดังกล่าวก็ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าตุ๊กตาทั้งสองตัวจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตาม เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตุ๊กตาทั้งสองตัวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเช่นนี้ การที่จำเลยขายหรือเสนอขายตุ๊กตาทั้งสองตัวในคดีนี้จึงไม่อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share