คำวินิจฉัยที่ 13/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๔๕

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลจังหวัดลพบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดลพบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
นางสมปองจิต ภูนคร โจทก์ ยื่นฟ้องนายสุพจน์ สอนสะอาด กรมที่ดิน และนายอำเภอเมืองลพบุรี เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดลพบุรี ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๘ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ส่วนที่ครอบครองประมาณ ๗ ไร่ ๘๐ ตารางวา เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๔ โจทก์ตกลงขายที่ดิน ตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๕ ให้แก่นายธงชัย มะลิลา ราคาไร่ละ ๓๘๐,๐๐๐ บาท ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางเงินมัดจำ ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยส่วนที่เหลือจะชำระภายในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ปรากฏว่าเมื่อในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๓๔ นายเสรี หาญพานิช เจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๔๒, ๑๘๖, ๙๕/๕๒ และ ๕๘๓ ได้ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ ๓ ขอรวมที่ดินที่ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเข้าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเดียวกัน จำเลยที่ ๓ ได้มีคำสั่งให้จำเลย ที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีดำเนินการ และจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการรังวัดที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๕ ของโจทก์ รวมเข้าไปด้วย ทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับใหม่ เลขที่ ๔๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๓ ได้ออกให้แก่นายเสรี หาญพานิช มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย จึงขอให้ศาลจังหวัดลพบุรีมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๔๒ เล่มที่ ๕ หน้า ๑๔๘ หมู่ ๘ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ศาลจังหวัดลพบุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันเนื่องจากการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นนิติกรรมทางปกครอง ข้อพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการพิพาทกันในทางปกครองอันอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงให้ส่งความเห็นไปยังศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลไว้ในมาตรา ๔๘ ว่าสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และในมาตรา ๒๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ยังได้บัญญัติว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาล คดีนี้โจทก์เห็นว่าสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ถูกละเมิด โจทก์ย่อมสามารถยกบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิทางศาล ศาลตามนัยแห่งบทบัญญัตินี้ย่อมหมายถึงศาลที่เปิดทำการอยู่ในเวลาที่โจทก์ประสงค์ใช้สิทธิ ดังนั้นในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ แม้ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังไม่มีศาลปกครองใดเปิดทำการ โจทก์จึงต้องฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจ เนื่องจากจำเลยมีภูมิลำเนาและมูลคดีเกิดขึ้นในเขต อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ศาลจังหวัดลพบุรีจึงมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่มีการประกาศเปิดทำการศาลปกครอง บุคคลสามารถฟ้องคดีปกครองต่อศาลอื่นได้หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๑ บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ส่วนมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน…ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย…ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ทั้งสองมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจของศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะประเภทตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดเท่านั้น ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจทั่วไปจึงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๔๒ เล่มที่ ๕ หน้า ๑๔๘ หมู่ ๘ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย โดยโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลพบุรีในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันที่หลังจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ขณะนั้นจึงยังไม่มีศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ คงมีแต่เพียงศาลยุติธรรมเท่านั้น ดังนั้นศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ยื่นฟ้องภายหลังพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ แต่ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ ระหว่าง นางสมปองจิต ภูนคร โจทก์ กับ นายสุพจน์ สอนสะอาด กรมที่ดิน และนายอำเภอเมืองลพบุรี จำเลย อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดลพบุรี

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share