คำวินิจฉัยที่ 18/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๔๗

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิจิตร

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๘๘/๒๕๔๕ ระหว่างนางบุญเลี้ยง ชัยรัตน์ ที่ ๑ นางบุญล้อม พิมพา ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการประสานงานการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดิน ของรัฐส่วนจังหวัดพิจิตร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีโดยผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้อง ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙๘๘๖ ตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ ๒ – ๒ – ๖๕ ไร่ เดิมเป็นโฉนดตราจองเลขที่ ๒๘๐๔ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งซึ่งงอกออกมาจากโฉนดตราจองดังกล่าว ตามคำขอที่ ๖๐๑/๑๒๔/๔๒ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ระหว่างทำการรังวัดนายสุรชัย ไกรเดช กำนันตำบลท่าฬ่อในฐานะผู้แทนนายอำเภอเมืองพิจิตร นายยงยุทธเชยเล็ก ในฐานะผู้แทนเจ้าท่าส่วนภูมิภาคที่ ๑ ได้คัดค้านการรังวัดและ ไม่ลงนามรับรองแนวเขตโดยอ้างว่า ที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวเป็นที่ดินในเขตแม่น้ำน่าน ที่ตื้นเขินขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อน และเกิดจากการที่สายน้ำเปลี่ยนทางเดิน จังหวัดพิจิตรได้มีคำสั่งที่ ๑๗๐๑/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๙ กันยายน๒๕๔๓ แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบสภาพที่งอกริมตลิ่ง และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งแต่เป็นที่ดินที่เกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ที่พิพาทดังกล่าว จึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๓๐๔(๒)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ไม่ยอมออกโฉนดให้ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยืนยันตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่งอกริมตลิ่งที่ได้ เคยแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงได้มีหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีกรมที่ดินลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๔ และ ๑๒ กันยายน๒๕๔๔ เพื่อขอความเป็นธรรม กรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ ๐๗๒๙.๒/๑๓๗๘๒ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม๒๕๔๕ แจ้งว่า กรมที่ดินได้ให้จังหวัดพิจิตรตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าบริเวณที่พิพาทเมื่อประมาณ ๔๐ ปีก่อน อาณาเขตแม่น้ำมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำ ต่อมาเมื่อสายน้ำเปลี่ยนร่องน้ำและพัดพาที่ดินมาทับถมกันทำให้ที่ดินตื้นเขิน และผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้เริ่มทำประโยชน์ภายหลังจากแม่น้ำมีสภาพตื้นเขินตามธรรมชาติ ซึ่งน้ำไม่สามารถท่วมถึง และยังไม่มีการถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน กรณีจึงเป็นการขอออกโฉนดที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ กรมที่ดินจึงได้ให้จังหวัดพิจิตรนำเรื่องดังกล่าวเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อพิจารณาการครอบครองและพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๕ เพื่อขอทราบผลการพิจารณาในการพิสูจน์สิทธิของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และขออุทธรณ์เรื่องนี้ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการดำเนินการ ในกรณีดังกล่าวได้ล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่อย่างใด จึงนำคดีมายื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๑๑พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เร่งรัดการพิจารณาเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งที่งอกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙๘๘๖ ดังกล่าว ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เร่งรัดการพิจารณาเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำคำให้การว่าได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการประสานงานการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดพิจิตร ครั้งที่ ๔/๒๕๔๕เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แล้ว โดยที่ประชุมมีมติยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่เกิดจากการเปลี่ยนทางเดินของทางน้ำมิใช่ที่งอกริมตลิ่ง และได้มีหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ พจ๐๐๒๒/๓๕๑๑ ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๖ แจ้งมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบแล้ว จึงถือได้ว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สิ้นสุดลงนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบผลการพิจารณาดังกล่าว คำฟ้องในข้อหาดังกล่าวศาลไม่จำต้องออกคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าคดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเพราะเป็นการฟ้องกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก่อนว่าเป็นที่งอกริมตลิ่ง หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกัน ซึ่งมาตรา๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๒๘/๒๕๔๕
ศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้อ้างว่าที่ดินริมตลิ่งที่อยู่ติดกับโฉนดของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นที่งอกริมตลิ่ง และได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่มีความเห็นว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามที่ขอให้ได้ และผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการความเห็นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบจึงเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองประสงค์จะให้วินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องขอให้ออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อ้างว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๙๘๘๖ ตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ ๒ – ๒ – ๖๕ ไร่ ต่อมาเกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้นจากที่ดินดังกล่าว ที่งอกนั้นจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว นายสุรชัย ไกรเดช กำนันตำบลท่าฬ่อในฐานะผู้แทนนายอำเภอเมืองพิจิตร นายยงยุทธ เชยเล็ก ในฐานะผู้แทนเจ้าท่าส่วนภูมิภาคที่ ๑ ได้คัดค้านการรังวัดและไม่ลงนามรับรองแนวเขตโดยอ้างว่าที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวเป็นที่ดินในเขตแม่น้ำน่านที่ตื้นเขินขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนและเกิดจากการที่สายน้ำเปลี่ยนทางเดิน ที่พิพาทดังกล่าวจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกโฉนดให้ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคณะกรรมการประสานงานการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดพิจิตร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกโฉนดให้ คดีนี้จึงมีปัญหาที่ศาลจำต้องพิจารณาเสียก่อนว่าที่ดินพิพาท เป็นที่งอกริมตลิ่ง ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกโฉนดต่อไป ดังนั้น เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้ออกโฉนดที่งอกริมตลิ่ง ระหว่าง นางบุญเลี้ยง ชัยรัตน์ ที่ ๑ นางบุญล้อม พิมพา ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการประสานงานการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ส่วนจังหวัดพิจิตร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ศาลจังหวัดพิจิตร

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share