คำวินิจฉัยที่ 4/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๔๖

วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง แต่เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
นางสมหวัง บัวใหญ่รักษา ที่ ๑ นางละมุล มีสวัสดิ์หรือธงอาษา ที่ ๒ และนางนิดประภา พลมั่น ที่ ๓ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒ นายอำเภอเขาสวนกวาง ที่ ๓ นายทองพูน พรมแพง ที่ ๔ นายสมนึก สท้านธรนิล ที่ ๕ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๖ และกรมป่าไม้ ที่ ๗ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ความว่า โจทก์ทั้งสามได้ครอบครองและทำประโยชน์ร่วมกันในที่ดินมือเปล่าตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๐๓ และ ๑๐๔ ตำบลนางิ้ว อำเภอเขาสวนกวาง (น้ำพอง) จังหวัดขอนแก่น ต่อจากผู้ครอบครองเดิมที่ได้เข้าทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และได้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวแก่ทางราชการไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘
ต่อมา จำเลยที่ ๔ และ ที่ ๕ โดยการมอบอำนาจของจำเลยที่ ๓ ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดปักหลักเขตเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง รุกล้ำที่ดิน ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสาม เต็มทั้งแปลง โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ (แปลงที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านนางิ้ว – นาโพธิ์) หมู่ที่ ๗ ตำบลนางิ้ว อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังได้ออกประกาศกำหนดเขตป่าไม้เตรียมการ ป่าโคกสูง – บ้านดง ทับที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงได้ร้องคัดค้านไว้และยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมา จำเลยที่ ๖ ได้มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ทั้งสามว่าหากไม่พอใจให้ไปดำเนินการทางศาลและนำหลักฐานการฟ้องคดีมาแสดงภายใน ๖๐ วัน มิฉะนั้นจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยถือว่าไม่มีการคัดค้าน โจทก์ทั้งสามจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลสั่งห้ามกระทำการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านนางิ้ว – นาโพธิ์) และเพิกถอนประกาศกำหนดเขตป่าไม้เตรียมการ ป่าโคกสูง – บ้านดง ห้ามมิให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าเกี่ยวข้องและกระทำการใด ๆ ในที่ดินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจสั่งการและกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจรับพิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ และคืนเงินค่าขึ้นศาล
ศาลปกครองขอนแก่นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและเพิกถอนประกาศกำหนดเขตป่าไม้เตรียมการเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ที่พิพาทมิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์หรือป่าไม้เตรียมการ แต่เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง จึงเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕ คดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีว่ารังวัดเพื่อปักหลักเขตที่ดินในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงรุกล้ำที่ดิน ส.ค. ๑ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จึงเป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล คงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
นอกจากนั้น การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนใน หมู่ ๗ ตำบลนางิ้ว อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นางสมหวัง บัวใหญ่รักษา ที่ ๑ นางละมุล มีสวัสดิ์หรือธงอาษา ที่ ๒ และนางนิดประภา พลมั่น ที่ ๓ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒ นายอำเภอเขาสวนกวาง ที่ ๓ นายทองพูน พรมแพง ที่ ๔ นายสมนึก สท้านธรนิล ที่ ๕ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๖ และกรมป่าไม้ ที่ ๗ เป็นจำเลย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดขอนแก่น

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share