คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 (3) ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ ดังนั้น บริษัทที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุดย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุดแทนบริษัทได้

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า นิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มีบริษัทควอลิตี้ เอสเตท แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้จัดการ ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดเอสวี ซิตี้ ตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ ข้อที่ 31 ระบุว่า “ในการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ภายหลังจากที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนและไม่เกินเก้าคน และในการประชุมใหญ่สามัญทุก ๆ ปี กรรมการจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดจะต้องพ้นจากตำแหน่ง นอกจากคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ในช่วงสองปีแรกนับจากที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดให้เลือกกรรมการที่จะพ้นจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลาก สำหรับในปีต่อ ๆ ไปให้กรรมการดำรงตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้พ้นจากตำแหน่งก่อน” นิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ จึงได้จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำนวน 9 คน และมีการเลือกกรรมการหมุนเวียนทดแทนกรรมการเดิมทุก ๆ ปี ปีละ 3 คน ตลอดมา ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 บัญญัติว่า “บุคคลต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ (1) เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่านิติบุคคลไม่สามารถเป็นกรรมการควบคุมการจัดการอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ได้ แต่นิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่และมีมติแต่งตั้งนิติบุคคลเป็นกรรมการควบคุมการจัดการอาคารชุดซึ่งขัดต่อกฎหมายดังกล่าวรวมสามครั้งกล่าวคือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 7/2545 วาระที่ 5 การพิจารณาเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่เพื่อทดแทนกรรมการที่หมดวาระ 3 ตำแหน่ง นิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ได้จัดให้เจ้าของร่วมที่เข้าประชุมใช้สิทธิเลือกตั้งและได้ประกาศให้ผู้ได้รับเลือกตั้ง คือ บริษัทสหวิริยาซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมอบหมายให้นางมัณฑณาเป็นกรรมการแทน และบริษัทไทม์ส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นายณัฐดนัยเป็นกรรมการแทน โดยนางมัณฑณาและนายณัฐดนัยมิได้เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนหรือผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัททั้งสอง ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 8/2546 วาระที่ 6 ได้ประกาศให้บริษัทมูวิโอล่า จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นางนฤมลเป็นกรรมการแทน และบริษัทสไปซี่ จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นางมัณฑณาเป็นกรรมการแทน โดยนางนฤมลและนางมัณฑณามิได้เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัททั้งสอง และครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2547 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 9/2547 วาระที่ 5 ได้ประกาศให้ บริษัทเจ เจ แลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทไวส์ พาวเวอร์ แลนด์ จำกัด เป็นกรรมการ โดยเฉพาะในครั้งที่สามนี้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ได้คะแนนลำดับที่ 4 และที่ 5 จึงไม่ได้รับเลือกตั้ง การที่นิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ มีมติแต่งตั้งให้บริษัทดังกล่าวเป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดทั้งสามครั้ง จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมครั้งที่ 7/2545 ครั้งที่ 8/2546 และครั้งที่ 9/2547 ของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 (3) ระบุถ้อยคำเพียงว่า “ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม” เป็นบุคคลที่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการ โดยไม่มีข้อกำหนดหรือข้อห้ามหรือมีกฎหมายบังคับมิให้นิติบุคคลมีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุด การประชุมใหญ่เพื่อคัดเลือกกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดจึงสามารถเลือกตั้งนิติบุคคลให้เป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดได้ และหลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งแล้วนิติบุคคลก็สามารถมอบอำนาจหรือมอบหมายให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นดำเนินการแทนนิติบุคคล โดยมีสิทธิแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดแทนนิติบุคคลได้ไม่ได้ต้องห้ามตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างถ้อยคำว่า “ผู้จัดการ” หรือ “ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” พระราชบัญญัติอาคารชุดมิได้ให้คำนิยามไว้ต้องนำบทบัญญัติลักษณะหุ้นส่วนและบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียง ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจะต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้นจึงจะเป็นผู้จัดการได้ แต่อาจจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ได้ตามที่บริษัทได้แต่งตั้ง การแต่งตั้งบริษัทสหวิริยาซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทม์ส เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด บริษัทมูวิโอล่า จำกัด บริษัท สไปซี่ จำกัด บริษัทเจเจ แลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทไวส์ พาวเวอร์ แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของห้องชุด จึงเป็นเจ้าของร่วมที่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุด และมีสิทธิที่จะมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของบริษัททำให้บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับมอบหมายมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดได้ ดังนั้น บริษัทดังกล่าวจึงสามารถมอบหมายให้นางมัณฑณาและนายณัฐดนัยเป็นกรรมการตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2545 และนางนฤมลและนางมัณฑณาเป็นกรรมการตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2546 และครั้งที่ 9/2547 มติที่ประชุมใหญ่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2545 และครั้งที่ 8/2546 เกินกำหนดระยะเวลา 1 เดือนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดชี้สองสถานศาลชั้นต้นเห็นว่าประเด็นข้อพิพาทเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดที่แต่งตั้งนิติบุคคลให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ แล้ว พิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดเอสวี ซิตี้ นิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแต่งตั้งกรรมการควบคุมการจัดการอาคารชุดและมอบหมายให้นิติบุคคลเป็นกรรมการดังนี้ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 7/2545 แต่งตั้งให้บริษัทสหวิริยา ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมอบหมายให้นางมัณฑณาเป็นกรรมการแทน และบริษัทไทม์ส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นายณัฐดนัยเป็นกรรมการแทน ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 8/2546 แต่งตั้งให้บริษัทมูวิโอล่า จำกัด ซึ่งมอบหมายให้นางนฤมลเป็นกรรมการแทน และบริษัทสไปซี่ จำกัด มอบหมาย ให้นางมัณฑณาเป็นกรรมการแทน และครั้งที่สามเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2547 การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 9/2547 แต่งตั้งให้บริษัทเจเจ แลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทไวส์ พาวเวอร์ แลนด์ จำกัด เป็นกรรมการ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองว่า มติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ทั้งสามครั้งดังกล่าวที่แต่งตั้งนิติบุคคลให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาทบัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
1. เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม
2. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี
3. ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีการแยกบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้โดยใน (1) และ (2) เป็นการให้สิทธิบุคคลธรรมดา ส่วนใน (3) แสดงให้เห็นว่านิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการได้ หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลธรรมดาไม่ ดังนั้น การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมกระทำได้โดยผ่านผู้แทนหรือตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคลและการกระทำดังกล่าวมีผลผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดด้วย แม้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 (3) กำหนดบุคคลที่จะเป็นกรรมการในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมไว้ว่า “ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท มิได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามความหมายของคำว่า “ผู้จัดการ” หรือ “ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียง โดยในบริษัทจำกัด “ผู้จัดการ” หมายถึงผู้ที่ดำเนินการจัดการเรื่องให้แก่บริษัท กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้น จึงจะสามารถเป็นผู้จัดการได้ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ที่บริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ ส่วนกรณีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ อาจเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนของนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ เมื่อบริษัทสหวิริยา ซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทม์ส เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทมูวิโอล่า จำกัด บริษัทสไปซี่ จำกัด บริษัทเจเจ แลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทไวส์ พาวเวอร์ แลนด์ จำกัด ล้วนแต่เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด ย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ แทนบริษัทได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดเอสวี ซิตี้ ทั้งสามครั้งชอบด้วยกฎหมายและพิพากษาให้ยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share