คำวินิจฉัยที่ 17/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๗/๒๕๕๒

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๒

เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดเชียงราย
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงรายโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ โดยศาลจังหวัดเชียงรายไม่ได้ส่งความเห็นไปให้ศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่จำเลยร้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจจัดทำความเห็น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๐ นายเทอดศักดิ์ อดุลวัฒนธรรม โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ที่ ๓ นายอำเภอเมืองเชียงราย ที่ ๔ นายบุญส่ง อุโมงค์ ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ ตำบลสันทราย ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงราย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๕/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินซึ่งโจทก์ใช้ประกอบกิจการพาณิชย์และบริการชื่อโรงแรมบ้านสวนริเวอร์วิวรีสอร์ท ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยซื้อที่ดินจากบุคคลที่เข้าทำประโยชน์ครอบครองติดต่อกันมาไม่ขาดสายและปลูกสร้างบ้านมาหลายชั่วอายุคน ทางราชการได้ออกบ้านเลขที่พักอาศัยเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๕ ได้กระทำการอันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์เสนอโครงการอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ ๔ ว่า ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมีมติให้กันที่ดินบางส่วนของโจทก์เป็นที่สาธารณะของหมู่บ้านเพื่อประโยชน์ประชาชนได้ใช้สอยร่วมกันโดยแจ้งให้จำเลยที่ ๔ ดำเนินการเสนอขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์ในบริเวณที่โจทก์ขุดเป็นบ่ออเนกประสงค์เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภคและบริโภค ทั้งที่เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรมชลประทานยังยอมรับสิทธิของโจทก์ ขอความยินยอมโจทก์ในการก่อสร้างคันดินป้องกันน้ำท่วมโดยใช้ตลิ่งที่ดินของโจทก์วางหินเป็นคันกันน้ำท่วมพื้นที่ตำบลสันทราย นอกจากนี้ศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ มส. ๕๐๖/๒๕๔๘ พิพากษาให้จำเลยที่ ๕ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ กรณียุยงส่งเสริมให้ชาวบ้านบุกรุกที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ อนึ่ง จำเลยที่ ๔ ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๕ นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินในหมู่บ้านโป่งสลี หมู่ที่ ๓ ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ในการรังวัดที่ดินดังกล่าวได้รังวัดรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์แปลงที่หนึ่ง คิดเป็นเนื้อที่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา และรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แปลงที่สองบางส่วน คิดเป็นเนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๘๕ ตารางวา ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้ประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ เรื่องออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และมีหนังสือลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗ แจ้งประกาศดังกล่าวให้โจทก์ทราบว่าทำการรังวัดที่ดินเรียบร้อยแล้ว และจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อไป หากจะคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้คัดค้านภายในกำหนดระยะเวลา โจทก์จึงมีคำขอลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๗ คัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าจะเป็นคำขอ คำสั่ง การนำชี้และรังวัดที่ดิน รวมทั้งประกาศว่าที่ดินบางส่วนของโจทก์เป็นที่สาธารณะหมู่บ้าน เป็นการโต้แย้งสิทธิและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการจงใจของจำเลยที่ ๕ ในการเลือกปฏิบัติ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันยกเลิกแผนที่พิพาท และแก้ไขให้โจทก์กลับสู่สถานะเดิมก่อนที่มีการนำชี้และรังวัดที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี การที่ทางราชการได้ออกทะเบียนบ้านให้มิใช่การให้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๕ ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ ๕ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ มิได้หมายความว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองที่จะใช้อ้างกับรัฐได้ ทั้งการที่กรมชลประทานให้โจทก์ทำหนังสือยินยอมก็มิได้หมายความว่าเป็นการให้สิทธิครอบครองในที่ดินแก่โจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลลงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องโต้แย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ว่า ภายหลังจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง โจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าต่อศาลปกครองเชียงใหม่ด้วย แต่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม โจทก์อุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๒๐๐/๒๕๕๑ ให้ศาลปกครองเชียงใหม่รับฟ้องเฉพาะประเด็นที่ผู้ฟ้องคดี (โจทก์ในคดีนี้) มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งจำเลยทั้งห้าเห็นว่าประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และในคดีปกครองดังกล่าวเป็นเรื่องเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โจทก์ยื่นฟ้องคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกับคดีนี้ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีส่งคืนการครอบครองที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีและรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากที่ดิน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๗/๒๕๕๐
ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย ทั้งเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องเฉพาะประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา เนื่องจากการที่ผู้ใหญ่บ้านฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ นำเสาคอนกรีตบางส่วนมาปักไว้ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว อาจเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายได้ และเป็นการขอให้ศาลปกครองมีคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันจึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่
ศาลจังหวัดเชียงรายเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเพื่อให้เพิกถอนแผนที่พิพาทที่จำเลยที่ ๕ นำชี้โดยไม่สุจริตและเป็นโมฆะ เพราะที่ดินไม่เป็นที่ดินที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ให้จำเลยทั้งห้าดำเนินการแก้ไขให้โจทก์กลับสู่สถานะเดิม ซึ่งการจะวินิจฉัยตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องจะต้องได้ความว่าที่ดินที่จำเลยทั้งห้านำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเป็นที่ดินของโจทก์หรือของรัฐ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งจะต้องวินิจฉัยโดยศาลยุติธรรม ที่ศาลปกครองสูงสุดให้ศาลปกครองเชียงใหม่รับพิจารณาเฉพาะรั้วแนวเขตที่ดินเท่านั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยคดีให้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะประเด็นหลักแห่งคดีเป็นการวินิจฉัยว่าที่ดินเป็นของบุคคลใดเป็นสำคัญ แม้โจทก์แถลงยืนยันว่าโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบ ไม่ได้ฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีดังกล่าวมาแล้ว จึงเห็นว่าคดีนี้สมควรให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้พิจารณาชี้ขาดอีกครั้ง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ถ้าคู่ความหรือศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง ให้นำความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว … (๓) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด … ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงรายและศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกัน และจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลต่อศาลจังหวัดเชียงรายว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ศาลปกครองเชียงใหม่รับฟ้องประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนเสาคอนกรีตออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา แต่การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีนี้ ศาลจังหวัดเชียงรายจะต้องดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติไว้ กล่าวคือ ศาลจังหวัดเชียงรายต้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว แล้วจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่จำเลยทั้งห้าร้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจจัดทำความเห็นโดยเร็ว ถ้าศาลจังหวัดเชียงรายและศาลปกครอง มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลจังหวัดเชียงรายจึงจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้ การส่งเรื่องให้คณะกรรมการของศาลจังหวัดเชียงรายจึงมิได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓)
จึงมีคำสั่งว่า การเสนอเรื่องของศาลจังหวัดเชียงรายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share