คำวินิจฉัยที่ 23/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๕๐

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ นายสัมฤทธิ์ ดิษฐาพร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๙/๒๕๔๙ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๙ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ติดต่อกันประมาณ ๑๐ ไร่ โดยครอบครองต่อเนื่องมาจากนายเที่ยง ดิษฐาพร บิดา ซึ่งถึงแก่กรรมไปประมาณ ๑๐ ปีเศษ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ อำเภอลานสการ่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๙ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ โดยมอบหมายให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านที่ที่สาธารณประโยชน์ตั้งอยู่ทำการในฐานะผู้ปกครองท้องที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ ตลอดจนร่วมกับผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสภาตำบล นำทำการรังวัดชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ที่ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวด้วย สำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชสอบสวนและรังวัดทำแผนที่ตามวิธีการรังวัดเพื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี โดยมีหนังสือขอให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงไประวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดิน เมื่อรังวัดเสร็จแล้วได้เนื้อที่ ๓๙ ไร่เศษ ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชประกาศแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและปิดประกาศดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทราบทั่วกันและให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้าน ผู้ฟ้องคดีจึงคัดค้านเนื่องจากมีการรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจำนวนเนื้อที่ ๑๐ ไร่ และรุกล้ำที่ดินของนางสาวจิราพร ดิษฐาพร จำนวนเนื้อที่ ๕ ไร่ รวมทั้งรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่นที่อยู่ต่อเนื่องกัน ทั้งๆ ที่ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ นายอำเภอลานสกามีหนังสือรับรองว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีและที่ดินของนางสาวจิราพร รวมทั้งที่ดินของบุคคลอื่นๆ ไม่เป็นสถานที่หวงห้ามของทางราชการ และผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว และเมื่อปี ๒๕๐๘ ก็ได้กันไว้เป็นที่หลวงทำเลเลี้ยงสัตว์เพียง ๒๗ ไร่ ซึ่งไม่ได้รุกล้ำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดี จึงฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช (ศาลยุติธรรม) เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๗๐/๒๕๔๕ แต่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คดีหมายเลขแดงที่ ๑๐๘๔/๒๕๔๕) โดยเห็นว่ากรณีตามฟ้องเป็นเรื่องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๘ และศาลอุทธรณ์ภาค ๘ เห็นว่า โจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องเสียก่อน หากศาลปกครองเห็นว่าจำต้องส่งเรื่องเขตอำนาจศาลขัดกันไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อวินิจฉัยแล้ว จึงเป็นขั้นตอนต่อไปที่ศาลชั้นต้นหรือศาลปกครองจะต้องรับคำฟ้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามนัยมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งตามมาตรา ๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเท่านั้นที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย และพิพากษายกอุทธรณ์ (คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๗๘/๒๕๔๖)
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๖ ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นศ ๑๑๔๖ เนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๓ งาน ๑๐ ตารางวา และในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ขุดคูเพื่อกั้นแนวเขตล้อมรอบที่ นสล. หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๙ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยตัดต้นเทียมของผู้ฟ้องคดี ๒๐ ต้น ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท และแปลงหญ้าสำหรับเลี้ยงโคนมจำนวนเนื้อที่ ๘๑๖ ตารางเมตร ราคา ๓๐,๐๐๐ บาท โดยองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล ทำสัญญาตกลงชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้ไว้เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงที่พิพาทตามฟ้อง ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นศ ๑๑๔๖ เฉพาะในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจำนวนเนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษ และห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือบริวารหรือบุคคลหรือองค์กรอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แปลงที่ทำเลเลี้ยงสัตว์เลขที่ นศ ๑๑๔๖ รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์โดยไม่มีเอกสารสิทธิ จึงขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๐ ไร่เศษ และให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวและห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือบุคคลอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครอง การใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และพยานหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตลอดจนการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓/๒๕๔๖, ๖/๒๕๔๖, ๗/๒๕๔๖ และ ๑๙/๒๕๔๗

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๙ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากกรณีผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นศ ๑๑๔๖ เนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๓ งาน ๑๐ ตารางวา รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและของบุคคลอื่นซึ่งที่ดินอยู่ต่อเนื่องกัน ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีคัดค้านการรังวัดเพื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวแล้ว ประกอบกับนายอำเภอลานสกามีหนังสือรับรองไว้เป็นหลักฐานแล้วว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีและของบุคคลอื่นๆ ไม่เป็นสถานที่หวงห้ามของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว และเมื่อปี ๒๕๐๘ ได้กันที่ดินไว้เป็นที่หลวงทำเลเลี้ยงสัตว์เพียง ๒๗ ไร่ โดยไม่รุกล้ำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง และระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ขุดคูเพื่อกั้นแนวเขตล้อมรอบที่ นสล. หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๙ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัดต้นเทียมและแปลงหญ้าสำหรับเลี้ยงโคนมของผู้ฟ้องคดี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเลทำสัญญาตกลงชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวไว้แล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงที่พิพาทตามฟ้อง ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นศ ๑๑๔๖ เฉพาะในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจำนวนเนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษ และห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือบริวารหรือบุคคลหรือองค์กรอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสัมฤทธิ์ ดิษฐาพร ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share