คำวินิจฉัยที่ 44/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๔/๒๕๔๘

วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒)

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๕ นายสนิท ทรัพย์มาก ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู ที่ ๑ นายอำเภอโนนสูง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๐/๒๕๔๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่นายบู่ กำบังกาย อดีตกำนันตำบลดอนชมพู ขุดบ่อล้ำเข้ามาในทางสาธารณะซึ่งห่างจากบ้านผู้ฟ้องคดีประมาณ ๑๐๐ กว่าเมตร ทำให้สภาพทางแคบลง ผู้ฟ้องคดีเดินสัญจรไม่สะดวกดังเช่นที่เคย ผู้ฟ้องคดีแจ้งให้นายบู่ถมที่ดินพิพาทคืนแต่ก็เพิกเฉย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตรวจสอบและสั่งให้นายบู่ถมที่ดินพิพาทคืน แต่ก็ถมไม่เต็มทางและหลักโฉนดที่ดินหายไป ๑ หลัก ผู้ฟ้องคดีขอให้นำเจ้าหน้าที่ที่ดินมารังวัดเขต แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ผู้ฟ้องคดีเสียค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ที่ดินเอง ผู้ฟ้องคดีได้ไปหาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ได้รับแจ้งทำนองเดียวกัน ต่อมานายบู่สร้างรั้วตามแนวที่ถมดินดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีแจ้งให้ทำรั้วตามแนวโฉนดที่ดินแต่ก็ไม่ดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือร้องเรียนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตรวจสอบและแก้ไขถมทางสาธารณะให้เหมือนเดิมตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ เรื่อยมาหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งกลางปี ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีนำสำเนาภาพถ่ายระวางทางสาธารณะที่ได้มาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อตรวจสอบและแก้ไขทางสาธารณะดังกล่าวแต่ไม่ได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตรวจสอบแนวหลักเขต ทำการแก้ไขถมทางให้เต็มพื้นที่ของทางสาธารณะให้เหมือนเดิม สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่ดินไปชี้เขตหาหลักเขตที่หายไปและให้นายบู่ทำรั้วให้ตรงตามโฉนดที่ดิน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีความยาว ๑๕๒ เมตร ความกว้างโดยเฉลี่ยประมาณ ๔.๗ เมตร บริเวณที่ถูกบุกรุกอยู่ติดกับโฉนดที่ดิน เลขที่ ๙๔๗๑ ของนางเฟื่อง กำบังกาย ภรรยาของนายบู่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕ จึงรีบดำเนินการประสานงานกับเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอโนนสูง และมีหนังสือ ที่ นม ๗๕๙๐๑/๒๓๗ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้มอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ดินไปดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องเรียน โดยไปรังวัดเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ปรากฏว่ามีการทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์เป็นระยะทางยาว ๖๕ เมตร กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ ๒.๕ เมตร และ มีบ่อน้ำรุกล้ำประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๒๐ เมตร ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแจ้งให้นางเฟื่องและนายบู่ทราบว่าได้ทำรั้วบุกรุกทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งนางเฟื่องและนายบู่แจ้งว่าเพิ่งทราบว่ามีการบุกรุกและรับว่าจะปรับสภาพรั้วกับบ่อน้ำให้ตรงกับความเป็นจริงภายใน ๓๐ วัน โดยมีการถมดินพอสมควรแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยได้รับการร้องเรียนหรือรับสำเนาภาพถ่ายระวางทางสาธารณะตามที่ผู้ฟ้องคดี กล่าวอ้าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ละเลยเพิกเฉย หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีก็รีบดำเนินการแก้ไขทันทีและได้ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อให้นางเฟื่องและนายบู่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว เมื่อปรากฏว่านางเฟื่องและนายบู่มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ร่วมกันร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามสำเนาหนังสือที่ว่าการอำเภอโนนสูง ที่ นม ๑๐๑๘/๑๖๐๘ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๖ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการในปี ๒๕๔๑ ได้ดำเนินการตรวจสอบและสั่งให้นายบู่ถมที่ดินคืน แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ยังถมดินไม่เต็มและอ้างว่ามีผู้ขุดเอาหลักเขตโฉนดที่ดินสูญหายไป ๑ หลัก ส่วนการตรวจสอบแนวเขตที่ดินต้องดำเนินการตามระเบียบกรมที่ดิน ต้องเสียค่าธรรมเนียม นัดวัน จัดเวลาการนัดตามระบบซึ่งล่าช้าบ้างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้เพิกเฉย ได้จัดสรรเงินงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอรังวัดตรวจสอบแนวเขต ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าถมดินไม่เต็มพื้นที่หรือทางเดินนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการแล้วโดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอโนนสูง ไปทำการรังวัดตรวจสอบเขตที่ดิน ปรากฏว่าโฉนดที่ดิน เลขที่ ๙๔๗๑ ของนางเฟื่องแนวรั้วไม่ตรงตามหลักฐานการรังวัดโดยรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งนางเฟื่องมิได้ดำเนินการถมที่ดินให้เป็นดังเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขัดแย้งกับความจริง เพราะเหตุว่าตั้งแต่นางเฟื่องและนายบู่สัญญาว่าจะดำเนินการถมดิน ปรับสภาพรั้วและบ่อน้ำให้ตรงกับความเป็นจริงภายใน ๓๐ วัน ที่ดินดังกล่าวยังมิได้แก้ไขให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ และการที่นางเฟื่องและนายบู่ ไม่พอใจการชี้แนวเขตจึงถอนหลักเขตไปฝังที่ใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังเพิกเฉยไม่เอาผิดกับบุคคลดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ควรจะดำเนินการตามกฎหมายแต่ก็ยังมิได้ดำเนินการตามที่กล่าวอ้าง จึงเป็นการละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
ผู้ฟ้องคดียื่นคำแถลงต่อศาลว่า มีการทำรั้วให้แล้วยังไม่ตรงตามเขตโฉนดที่ดิน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ คัดค้านคำแถลงของผู้ฟ้องคดีว่า การสร้างรั้วได้ก่อสร้างตามแนวเขตที่ถูกต้องตามที่เจ้าหน้าที่ที่ดินได้ชี้แนวเขตทางสาธารณประโยชน์แล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ร่วมตรวจสอบด้วยและยอมรับในแนวเขตดังกล่าว และจะดำเนินการถอนฟ้องต่อไป
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตรวจสอบแนวหลักเขต ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินไปชี้เขตหาหลักเขตที่หายไป ให้ทำการแก้ไขถมทางให้เต็มพื้นที่ทางสาธารณะประโยชน์เหมือนเดิม และให้นายบู่ทำรั้วให้ตรงโฉนดที่ดิน ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำการตรวจสอบแนวเขตโฉนดที่ดินของนายบู่และนางเฟื่อง รวมทั้งแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสูงเพื่อดำเนินคดีกับนายบู่และนางเฟื่อง ซึ่งต่อมาผู้ฟ้องคดียื่นคำแถลงต่อศาลว่ารั้วที่นายบู่และนางเฟื่องทำยังไม่ตรงตามแนวเขตโฉนดที่ดิน อันเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ดำเนินการตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง อันมิใช่คำขอให้ศาลมีคำบังคับในเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายบู่และนางเฟื่อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคัดค้านคำแถลงของผู้ฟ้องคดีว่า การสร้างรั้วได้ทำการก่อสร้างตามแนวเขตที่ถูกต้องตามที่เจ้าหน้าที่ที่ดินได้ชี้แนวเขตทางสาธารณประโยชน์แล้ว ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทที่นายบู่และนางเฟื่องขุดบ่อน้ำ ถมดินและก่อสร้างรั้วเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง หรือเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของนายบู่และนางเฟื่องตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔๙/๒๕๔๗
ศาลจังหวัดนครราชสีมาเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาทางสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เป็นเหตุให้นายบู่และนางเฟื่อง บุกรุกทำลายทางสาธารณประโยชน์ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องเรียนให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบแล้ว แต่มิได้รีบดำเนินการกับผู้บุกรุกหรือดำเนินการกับผู้บุกรุกล่าช้าทำให้ทางสาธารณประโยชน์เสียหาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่านายบู่และนางเฟื่อง ทำรั้วไม่ตรงตามแนวเขตโฉนดที่ดินนั้น เห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ไปรังวัดสอบเขตและชี้แนวเขตทางสาธารณะแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของนางเฟื่อง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นราษฎรหมู่ที่ ๑๐ ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู ที่ ๑ นายอำเภอโนนสูงที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า นางเฟื่องภริยานายบู่เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดติดกับทางสาธารณะ ต่อมานายบู่ ขุดดิน สระน้ำ และสร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะที่พิพาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทางสาธารณะดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงไปร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลทางสาธารณะให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดิน ภายหลังจากยื่นฟ้องคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้เจ้าพนักงานที่ดินไปดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วและไม่มีผู้ใดคัดค้าน ปรากฏว่าแนวรั้วและสระน้ำดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะ นางเฟื่องและนายบู่ไม่พอใจการรังวัดดังกล่าว มิได้ดำเนินการแก้ไขแนวรั้วและสระน้ำให้ถูกต้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็เพิกเฉยมิได้ดำเนินการตามกฎหมายกับนางเฟื่องและนายบู่แต่อย่างใด ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตรวจสอบแนวหลักเขต ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินไปชี้เขตหาหลักเขตที่หายไป ให้ทำการแก้ไขถมทางให้เต็มพื้นที่ทางสาธารณะเหมือนเดิม และให้นายบู่ทำรั้วให้ตรงโฉนดที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีจึงตั้งเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วปรากฏว่ามีการรุกล้ำทางสาธารณะ ทั้งนางเฟื่องและนายบู่ก็ยอมรับว่ารุกล้ำและจะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่บุคคลทั้งสองก็มิได้ดำเนินการแก้ไขผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงดำเนินการตามกฎหมาย มิได้ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ขอให้ยกฟ้อง ข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามีผู้รุกล้ำทางสาธารณะเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทางดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงร้องเรียนให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาทางสาธารณะให้ไปดำเนินการตามกฎหมายกับผู้รุกล้ำ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ให้การต่อสู้คดีว่ามีการรุกล้ำทางสาธารณะจริงและผู้รุกล้ำก็ยินยอมที่จะปรับสภาพทางสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่ ดังนั้นตามคำฟ้องและคำให้การต่างก็รับกันว่า มีผู้รุกล้ำทางสาธารณะและผู้รุกล้ำก็ยอมรับว่าได้รุกล้ำทางสาธารณะจริง เห็นว่าคดีนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นทางสาธารณะหรือไม่ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสนิท ทรัพย์มาก ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู ที่ ๑ นายอำเภอโนนสูง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท พลโท
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share