คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่า คำเบิกความของร้อยตำรวจเอก น. ขัดกับบันทึกการจับกุม แต่ไม่ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าขัดกันอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยขณะเปิดบริการมิใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 52 เม็ด น้ำหนัก 4.67 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับจำนวน 1 เม็ด น้ำหนัก 0.09 กรัม ในราคา 100 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 3 ปี คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและกระเป๋า 1 ใบ ของกลาง ยกเว้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ คืนธนบัตรจำนวน 1,900 บาท แก่เจ้าของ ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 52 เม็ด ซึ่งมีการตรวจพิสูจน์แล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนมีน้ำหนัก 4.67 กรัม คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 51 เม็ด น้ำหนัก 4.58 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีพยานผู้จับกุมจำเลยมาสืบ 2 ปาก คือ ร้อยตำรวจเอกนิตย์ และดาบตำรวจบุญมีเบิกความว่า หลังจากสายลับได้นำเมทแอมเฟตามีนที่ล่อซื้อได้จากจำเลยจำนวน 1 เม็ด มามอบให้ร้อยตำรวจเอกนิตย์แล้ว พยานทั้งสองกับพวกได้เข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยที่แผงขายก๋วยเตี๋ยวโดยแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ให้จำเลยล้วงกระเป๋าทุกกระเป๋าออกมา ผลการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนสีส้มอยู่ในหลอดพลาสติกปิดหัวท้ายหลอดละ 1 เม็ด จำนวน 51 เม็ด อยู่ในกระเป๋าสตางค์ซึ่งคาดอยู่ที่เอวจำเลย ร้อยตำรวจเอกนิตย์สอบถามจำเลยแล้ว จำเลยยอมรับว่านายสมพงษ์ และนางกาญจนาให้เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแก่จำเลยมาขาย พยานทั้งสอง จึงจับกุมจำเลยและแจ้งข้อหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยฎีกาว่า ร้อยตำรวจเอกนิตย์เบิกความขัดกันเองเกี่ยวกับการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน เนื่องจากร้อยตำรวจเอกนิตย์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานให้จำเลยถอดกระเป๋าคาดเอวของจำเลยออกมาให้พยานตรวจสอบ เมื่อได้รับกระเป๋าคาดเอวจากจำเลยแล้วพยานได้เทสิ่งของภายในกระเป๋าดังกล่าวออกมาพบว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 51 เม็ด อยู่ภายในกระเป๋าดังกล่าว เห็นว่า โดยสาระสำคัญของคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนิตย์ในการตอบโจทก์และตอบทนายจำเลยถามค้านหาได้ขัดแย้งกันไม่ แต่กลับได้ความตรงกันว่า ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากกระเป๋าสตางค์ซึ่งคาดอยู่ที่เอวจำเลย เพียงแต่พยานเบิกความตอบโจทก์และทนายจำเลยถึงเหตุการณ์คนละตอนกัน กล่าวคือ เมื่อพยานให้จำเลยล้วงกระเป๋าคาดเอวพบเมทแอมเฟตามีนแล้วจึงให้จำเลยถอดกระเป๋าดังกล่าวให้พยานและพยานเทสิ่งของออกจากกระเป๋า ที่จำเลยฎีกาว่าคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนิตย์ขัดกับบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 แต่ไม่ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าขัดกันอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่จำเลยฎีกาว่า หากร้อยตำรวจเอกนิตย์ตรวจพบเมทแอมเฟตามีนที่กระเป๋าคาดเอวของจำเลยจริง ร้อยตำรวจเอกนิตย์คงจะทำบันทึกการจับกุมขณะที่ตรวจพบเมทแอมเฟตามีน ไม่จำแป็นต้องไปทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจนั้น เห็นว่า การทำบันทึกการจับกุมที่ไหนหาได้เป็นสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ แต่เนื้อหาของบันทึกการจับกุมต่างหากที่อาจแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งตามบันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามที่ถูกกล่าวหา ที่จำเลยฎีกาว่าไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมโดยสมัครใจนั้น เห็นว่า หากเจ้าพนักงานตำรวจบังคับให้จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมดังที่จำเลยกล่าวอ้างเจ้าพนักงานตรวจก็น่าจะบังคับให้จำเลยให้การในชั้นสอบสวนให้ตรงกับบันทึกการจับกุม แต่ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดพัทยา) ซึ่งระบุว่าทำขึ้นในวันเดียวกับบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 แต่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนปฏิเสธว่าเมทแอมเฟตามีน 51 เม็ด ของกลางไม่ใช่ของจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ค้นจากตัวจำเลย จึงเชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกคำให้การทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนไปตามที่จำเลยให้การ หาได้ข่มขู่บังคับจำเลยให้การในชั้นจับกุมดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีพยานมาเบิกความยืนยันว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 51 เม็ด จากตัวจำเลย คือนายองอาจซึ่งขณะเบิกความได้บวชเป็นพระภิกษุคำเบิกความจึงน่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า พยานบุคคลของโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 51 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย การตรวจค้นและจับกุมจำเลยไม่สามารถกระทำได้เพราะไม่ใช่เป็นความผิดซึ่งหน้า และเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจำเลยโดยไม่มีหมายค้นจากศาล การตรวจค้นและจับกุมจำเลยกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่สามารถลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังไม่ได้ว่ามีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยดังที่จำเลยฎีกา แต่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนิตย์พยานโจทก์และตัวจำเลยตรงกันว่าขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยนั้น จำเลยกำลังขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลย โดยจำเลยเบิกความว่า มีลูกค้ากำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านของจำเลย ดังนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยจึงหาใช่เป็นที่รโหฐานไม่ แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) การตรวจค้นและจับกุมจึงชอบด้วยกฎหมาย”
พิพากษายืน

Share