แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่มีการโอนที่ดินโดยโอนโฉนดไขว้กันนั้น แม้จะโอนมาช้านานและปกครองที่ตามที่ตั้งใจโอน ถ้ามีผู้รับโอนโฉนดโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต ผู้รับโอนย่อมได้ที่ดินตามโฉนดที่ตนได้รับโอนนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มารดาโจทก์มีที่ดิน 2 แปลงติดกัน คือโฉนดที่ 1366 เป็นที่แปลงใหญ่ และโฉนดที่ 1364 เป็นที่แปลงเล็ก
10 มิถุนายน 2474 มารดาโจทก์ยกกรรมสิทธิ์ที่แปลงใหญ่ให้โจทก์แต่หยิบโฉนดผิดโดยเอาโฉนดแปลงเล็กไปทำการโอน
2482 มารดาโจทก์ตาย โจทก์ยอมให้นายเทียนไปรับโอนมรดกที่อีกแปลงหนึ่งแทนที่บิดาโดยเอาโฉนดแปลงใหญ่ไปโอนรับมรดก วันที่ 26 มิถุนายน 2488 นายเทียนเอาโฉนดไปโอนขายให้จำเลย
บัดนี้โจทก์รู้ความจริงว่า โฉนดไขว้กัน จึงฟ้องขอให้แก้โฉนดแปลงใหญ่เป็นของโจทก์ และแปลงเล็กเป็นของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยรับโอนโฉนดที่แปลงใหญ่โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตจึงได้ที่แปลงใหญ่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299, 1300 จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ข้อเท็จจริงเรื่องหยิบโฉนดโอนให้โจทก์ผิดนั้นคู่ความเถียงกัน แต่อย่างไรก็ดี ความข้อนี้ไม่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยผู้รับซื้อทางทะเบียนได้ล่วงรู้หรือจำเลยได้รับโอนโดยไม่สุจริตอย่างใด คดีปรับเข้า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนได้ พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์