แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฎในสำนวนว่าโจทก์ได้ตั้งแต่งบุคคลผู้นี้เป็นทนายความโจทก์ไว้ ทั้งบุคคลผู้นี้มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความโจทก์มาก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ได้
แม้ พ.ร.บ. อัยการฯ มาตรา 11 (2) กำหนดว่า ในคดีแพ่งพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง แต่เมื่อพนักงานอัยการเข้ามาดำเนินการแทนตัวความในคดีแพ่งในฐานะทนายความ การตั้งทนายความจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความแล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 61 เมื่อคดีนี้ไม่มีการตั้งแต่งร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีให้เป็นทนายความแก้ต่างในคำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 1,920,867.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,286,902 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 957,877 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 73,455 บาท นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2535 และของต้นเงิน 884,422 บาท นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 929,475 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 73,455 บาท นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2535 และของต้นเงิน 856,020 บาท นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีร้อยตำรวจเอกปรีเชาว์ พนักงานอัยการ จังหวัดราชบุรี ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏในสำนวนว่าโจทก์ได้ตั้งแต่งบุคคลผู้นี้เป็นทนายความโจทก์ไว้ทั้งบุคคลผู้นี้มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความโจทก์มาก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2534 (ประชุมใหญ่) ที่โจทก์อ้างที่ว่า แม้ทนายความลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าทนายความคนดังกล่าวเคยทำหน้าที่ทนายความดำเนินคดีแทนคู่ความมาก่อนถือได้ว่าทนายความคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแล้ว รูปเรื่องจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายต่อมาว่าตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) กำหนดว่า ในคดีแพ่งพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง ร้อยตำรวจเอกปรีเชาว์ ในฐานะพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ด้วยการยื่นอุทธรณ์โดยไม่ต้องมีใบแต่งทนายความนั้น เห็นว่า แม้กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น แต่เมื่อพนักงานอัยการเข้าดำเนินการแทนตัวความในคดีแพ่งในฐานะทนายความ การตั้งทนายความจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความแล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งแต่งร้อยตำรวจเอกปรีเชาว์ พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีให้เป็นทนายความแก้ต่างในคำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นชอบแล้ว และแม้ฎีกาของโจทก์คดีนี้จะมีการตั้งแต่งพนักงานอัยการคนใหม่เข้ามาในคดี แต่ก็ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกามิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายืน