แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การสั่งคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาซึ่งอ้างว่าเป็นการผิดระเบียบในชั้นฎีกาเป็นอำนาจของศาลฎีกา ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ส่งมาให้ศาลฎีกาสั่ง จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งในเรื่องดังกล่าวเป็นที่สุด ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ จึงให้ยกคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเสีย และคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วเห็นสมควรพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบของโจทก์ โดยเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านให้คู่ความฟังจะเพิ่มเติมแก้ไขมิได้ เว้นแต่กรณีมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์โดยวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงวินิจฉัยครบถ้วนตามประเด็นในอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมิได้มีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิ่มเติมแก้ไขได้
(คำสั่งคำร้อง)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 33,230,309 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวและเงินเพิ่มร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค้างจ่าย 3,547,176 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาพิพากษายืน
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คดีถึงที่สุดแล้วไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ เนื่องจากการยื่นเอกสารหรือคำคู่ความในลักษณะนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางก่อความรำคาญ ศาลเห็นสมควรออกข้อกำหนดโดยห้ามโจทก์หรือทนายโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางก่อความรำคาญอีก หากต่อไปมีการยื่นเอกสารหรือคำคู่ความในลักษณะนี้ ให้เจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ยื่นรอฟังคำสั่งด้วยทุกครั้ง
โจทก์เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลฎีกาในเรื่องที่ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนที่รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย และศาลฎีกาพิพากษาเกินไปจากประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงสามารถยื่นคำร้องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 มิได้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางที่ก่อให้เกิดความรำคาญแต่อย่างใด ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจสั่งไม่รับคำร้องของโจทก์ เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ นอกจากนี้การที่ศาลแรงงานกลางออกข้อกำหนดห้ามโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้อีกเป็นการไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ถึงมาตรา 33 โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว การสั่งคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาซึ่งอ้างว่าเป็นการผิดระเบียบในชั้นฎีกา เป็นอำนาจของศาลฎีกา ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ส่งมาให้ศาลฎีกาสั่ง จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งในเรื่องดังกล่าวเป็นที่สุด ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ก็เป็นการไม่ชอบ จึงให้ยกคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเสียและคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เห็นสมควรพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบของโจทก์ไปเสียเลย โดยเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านให้คู่ความฟังจะเพิ่มเติมแก้ไขมิได้ เว้นแต่กรณีมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาอุทธรณ์โจทก์โดยวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว จึงวินิจฉัยครบถ้วนตามประเด็นในอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว มิได้มีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงโจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิ่มเติมแก้ไขได้ ให้ยกคำร้อง”