คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 หมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิดอีกทั้งในทางอาญา การร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกันดังนั้นการที่จำเลยครอบครองไม้ยูง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เพื่อแปรรูปให้ผู้ว่าจ้างจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ เดิมจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกข้อหา เป็นขอให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกับพวกแปรรูปไม้ยูงโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นคงให้การปฏิเสธเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้กล่าวในฟ้องตอนต้นแล้วว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่จังหวัดทุกจังหวัด โดยประกาศดังกล่าวทางราชการได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันและที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง และในท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้ให้ทราบโดยทั่วกัน และกล่าวในฟ้องต่อไปว่า จำเลยกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้ยูงโดยร่วมกันเลื่อยเพื่อ เปิดปักไม้อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิม ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ในข้อหาร่วมกับพวกแปรรูปไม้ยูงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ย่อมเป็นการรับสารภาพตามข้อความที่โจทก์กล่าวในฟ้อง คำให้การรับสารภาพของจำเลยจึงรวมถึงการแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้และรวมถึงการคัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนันหรือที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องและในท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้ด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องสืบพยานถึงการปิดสำเนาประกาศดังกล่าว ความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 48 วรรคหนึ่ง,73 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพ้นบาทถึงสองแสนบาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานในข้อหาความผิดนี้ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่จังหวัดทุกจังหวัด ประกาศดังกล่าวทางราชการได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันและที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องและในท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้ให้ทราบโดยทั่วกันแล้วเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538เวลากลางวัน จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้ยูงซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านหมาก และป่าปากพัง โดยใช้เครื่องเลื่อยยนต์ตัดทอนเป็นท่อน ๆ รวม 4 ท่อน ปริมาตร 7.05 ลูกบาศก์เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันมีไม้ยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขายและจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้ยูงดังกล่าวโดยร่วมกันเลื่อยเพื่อเปิดปีกไม้ อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 69, 73,74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 73 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปีฐานมีไม้อันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปีฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้อันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกกระทงละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนความผิดฐานแปรรูปไม้จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปีรวมสามกระทงจำคุก 7 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง,73 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิพากษาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมิได้ร่วมตัดโค่นต้นยูงขณะยืนต้นให้ล้มลง และขณะจำเลยถูกจับกุมจำเลยกำลังใช้เครื่องเลื่อยยนต์ตัดทอนไม้ยูงเป็นท่อนเล็ก ๆปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกับพวกทำไม้หวงห้ามประเภท ก. และทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกทำไม้หวงห้ามประเภท ก.ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกับพวกมีไม้หวงห้ามประเภท ก. อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าขณะจำเลยถูกจับกุม จำเลยเป็นผู้ครอบครองไม้ยูง4 ท่อน ของกลางแทนนายสายัณห์ผู้ว่าจ้างให้จำเลยแปรรูปไม้ของกลางดังกล่าวคำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 นั้นหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด อีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองไม้ยูงซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เพื่อแปรรูปให้ผู้ว่าจ้างจำเลยจึงเป็นความผิด
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำการแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้หรือไม่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยรับสารภาพว่าจำเลยแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการปฏิเสธต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้แปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความว่า ได้ปิดสำเนาประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 ไว้ ณ ที่ทำการกำนันหรือที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบเช่นว่านั้น จึงลงโทษจำเลยในความผิดข้อหานี้ไม่ได้ เห็นว่าเดิมจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกข้อหา เป็นขอให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกับพวกแปรรูปไม้ยูงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ 2 ค. ส่วนข้อหาอื่นคงให้การปฏิเสธตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 ซึ่งตามฟ้องโจทก์ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่จังหวัดทุกจังหวัด ประกาศดังกล่าวทางราชการได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันและที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องและในท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้ให้ทราบโดยทั่วกัน และกล่าวในฟ้องข้อ 2 ค. ต่อไปว่าจำเลยกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้ยูงโดยร่วมกันเลื่อยเพื่อเปิดปีกไม้อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกับพวกแปรรูปไม้ยูงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ 2 ค. ย่อมเป็นการรับสารภาพตามข้อความที่โจทก์กล่าวในฟ้องคำให้การรับสารภาพของจำเลยจึงรวมถึงการแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี และรวมถึงการคัดสำเนาประกาศไว้ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนันหรือที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องและในท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้ด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องสืบพยานถึงการปิดสำเนาประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำความผิดข้อหานี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง,73 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงแสนบาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานในข้อหาความผิดนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานนี้ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาแปรรูปไม้จำคุก 2 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุก 1 ปี หนักเกินไป จึงสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแต่ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 24874 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไม้หวงห้ามประเภท ก. อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน รวมสองกระทงจำคุก 2 ปี6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share