คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากการที่ลูกค้าของโจทก์แต่ละรายไม่ชำระหนี้ หนี้ของลูกค้าแต่ละรายเป็นหนี้ที่จำเลยแต่ละคนมีหน้าที่สรุปวิเคราะห์ มีหน้าที่ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงานและมีหน้าที่อนุมัติ ซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกันมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยทุกคนที่มีหน้าที่อำนวยสินเชื่อแก่ลูกค้าในรายเดียวกันนั้นย่อมเป็นสิทธิอันเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 15 และที่ 17 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
แม้โจทก์มีระเบียบให้กันเงินโบนัสของพนักงานไว้เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด แต่เมื่อค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 7 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ขาดอายุความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิกันเงินโบนัสของจำเลยที่ 7 ไว้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเจ็ดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้องแก่โจทก์นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 และที่ 11 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 15 และที่ 17 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 7 ฟ้องแย้งว่า โจทก์หักเงินโบนัสประจำปี 2554 ของจำเลยที่ 7 ไว้โดยไม่ชอบ เนื่องจากเงินที่โจทก์สั่งให้ชดใช้นั้นเกินกว่า 10 ปี ขาดอายุความแล้ว ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินโบนัสที่หักไว้ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 7
จำเลยที่ 16 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 7 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 11 ขาดนัด
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ กับให้โจทก์จ่ายเงินโบนัสแก่จำเลยที่ 7 จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 17 สิงหาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ระหว่างวันที่ 15-23 มีนาคม 2542 พนักงานตรวจสอบสำนักตรวจสอบของโจทก์ได้ตรวจสอบการปฏิบัติงานสาขาฉะเชิงเทรา และพบว่ามีการอำนวยสินเชื่อช่วยเหลือให้ลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ โดยการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการขอกู้เงินเกิดขึ้นก่อนวันสุดท้ายที่พนักงานตรวจสอบ สำนักงานตรวจสอบของโจทก์ไปทำการตรวจสอบ คือก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2542 ซึ่งในวันดังกล่าวนี้หากนับถึงวันฟ้องคดีคือวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เกินกำหนดสิบปี แล้ววินิจฉัยว่า กรณีการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติให้ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 นายชัยธวัช และจำเลยที่ 17 ทำละเมิดต่อโจทก์และทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ซึ่งก็คือวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 นายชัยธวัช และจำเลยที่ 17 ทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องกรณีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้สรุปวิเคราะห์สินเชื่อก็คือวันที่สรุปวิเคราะห์สินเชื่อ ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 14 เป็นผู้ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงานของผู้สรุปวิเคราะห์สินเชื่อ วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็คือ วันที่ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงาน ส่วนจำเลยที่ 15 นายชัยธวัช และจำเลยที่ 17 ทำหน้าที่อนุมัติเงินกู้ วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็คือวันที่อนุมัติซึ่งก็ปรากฏว่าขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการขอกู้เงินโจทก์คือการอนุมัติ ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 15 นายชัยธวัช และจำเลยที่ 17 อนุมัติเงินกู้ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีนี้เกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ แม้เรื่องอายุความจะเป็นเหตุส่วนตัว มิใช่เหตุในลักษณะคดี และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 มิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้คดีก็ตาม แต่มูลหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้ร่วมซึ่งไม่อาจแบ่งแยกกันได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 ด้วย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อต่อสู้อื่นของจำเลยอีกต่อไป สำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 7 ที่ขอให้โจทก์คืนเงินโบนัสประจำปี 2554 ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์อาศัยอำนาจตามระเบียบโจทก์ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการหักและหรือกันเงินโบนัสพนักงานเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด พ.ศ.2552 เงินโบนัสเป็นเงินพิเศษที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับ และที่นายจ้างหักเงินโบนัสของลูกจ้างมิใช่เป็นเรื่องลูกจ้างยอมรับสภาพหนี้ที่มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงด้วย เมื่อจำเลยที่ 7 มีสิทธิได้รับเงินโบนัสแล้ว ขณะที่โจทก์หักเงินโบนัสนั้นกรณีไม่แน่ว่าจำเลยที่ 7 จะได้กระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ โจทก์หักและหรือกันเงินโบนัสของจำเลยที่ 7 อ้างว่าเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 7 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด โจทก์จึงไม่มีเหตุหักและหรือกันเงินโบนัสของจำเลยที่ 7 ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินโบนัส 100,000 บาท แก่จำเลยที่ 7 ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้นชอบแล้วจึงกำหนดให้ตามที่ขอ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การเริ่มนับอายุความสิบปีต้องนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 มาปรับใช้ด้วย ซึ่งวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่กรรมการผู้จัดการโจทก์ทราบถึงการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 นายชัยธวัช และจำเลยที่ 17 และจำนวนค่าเสียหายที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ทราบในวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบตามหน้าที่ของตนเท่านั้น จึงรับผิดต่อโจทก์เฉพาะส่วนของตนมิใช่ลูกหนี้ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลแรงงานภาค 2 จะยกขึ้นเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 2 ยกอายุความกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานมาบังคับใช้ในคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยแต่ละคนปฏิบัติผิดระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งของโจทก์ตามตำแหน่งหน้าที่ของตน สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คือวันที่สรุปวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าแต่ละราย และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 14 คือวันที่ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงานในลูกค้าแต่ละรายที่ผ่านการสรุปวิเคราะห์มาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 15 นายชัยธวัช และจำเลยที่ 17 คือวันที่อนุมัติเงินกู้ให้ลูกค้าแต่ละรายที่ผ่านขั้นตอนสรุปวิเคราะห์สินเชื่อและผ่านงานและกลั่นกรองงานผ่านจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 มาแล้ว ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงวันที่เริ่มต้นสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 มิใช่วันที่กรรมการผู้จัดการโจทก์ทราบถึงการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยแต่ละคน และทราบจำนวนความเสียหายที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์อุทธรณ์ นอกจากนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายที่ลูกค้าของโจทก์แต่ละรายไม่ชำระหนี้ ดังนั้นหนี้ของลูกค้าแต่ละรายจึงเป็นหนี้ที่จำเลยแต่ละคนที่มีหน้าที่สรุปวิเคราะห์ มีหน้าที่ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงานและมีหน้าที่อนุมัติต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกันมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยทุกคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอำนวยสินเชื่อแก่ลูกค้าในรายเดียวกันนั้นย่อมเป็นสิทธิอันเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 15 และที่ 17 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจาณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้นชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ข้อ 3 ของโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนชัดเจนตามฟ้องและอุทธรณ์หรือไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 4 ว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2554 ให้จำเลยที่ 7 ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 7 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ออกคำสั่งที่ ว.33/2555 กันเงินโบนัสประจำปี 2554 ของจำเลยที่ 7 เป็นเงิน 100,000 บาท ไว้โดยชอบตามระเบียบโจทก์ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการหักและหรือกันเงินโบนัสพนักงานเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด พ.ศ.2552 คำสั่งดังกล่าวของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้วนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์มีระเบียบให้กันเงินโบนัสของพนักงานไว้เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด และโจทก์ออกคำสั่งที่ ว.33/2555 ถูกต้องชอบด้วยระเบียบแล้วก็ตาม แต่เมื่อค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 7 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์นั้นขาดอายุความตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 7 และคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 แล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะกันเงินโบนัสของจำเลยที่ 7 ไว้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินโบนัสคืนแก่จำเลยที่ 7 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share