แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่องค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณะและกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณะ ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินดังกล่าว และมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช่ร่วมกันและให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะประเด็นพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง 267,150 บาท จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐม แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่อง เมื่อศาลแขวงนครปฐมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่แล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคำขอต่อเนื่องดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ว่าอ่านคำร้องของโจทก์แล้วไม่เข้าใจว่าโจทก์ต้องการแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนใดของคำฟ้องเดิม จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทำคำร้องฉบับใหม่โดยบรรยายให้ชัดว่าต้องการแก้ไขคำฟ้องเดิมในส่วนใด หรือต้องการเพิ่มเติมคำฟ้องลงไปตรงส่วนใดของคำฟ้องเดิม โดยให้ทำคำร้องฉบับใหม่มายื่นต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นจะมีคำสั่งไม่รับคำร้อง โจทก์มิได้ทำคำร้องฉบับใหม่มายื่นภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องจึงไม่มีประเด็นว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา แต่ถือว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา เท่านั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลปกครองกลางว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 จำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยมีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบและดูแลการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบลด้วยจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการในกรมที่ดิน สังกัดกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับที่ดิน โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6875 เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการรังวัดที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์และปักเสาไม้รุกล้ำเข้าไปไว้ในที่ดินโจทก์ประมาณ 20 เมตร โดยอ้างว่าเป็นแนวเขตคลองเล็กลำลาดบางยาง ทั้งๆ ที่ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2546 วันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และวันที่ 25 ตุลาคม 2548 จำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือที่ นฐ 71203/293 นฐ 71201/255 และ นฐ 71201/692 กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณะ ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินตามที่เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการปักเสาไม้ไว้ หากไม่รื้อถอนจำเลยที่ 1 จะดำเนินคดีกับโจทก์ตามกฎหมายโจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินของโจทก์มิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน รื้อถอนเสาไม้ที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์เฉพาะข้อหาที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมรื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ แต่ไม่รับฟ้องของโจทก์ที่ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินของโจทก์มิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ไว้พิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 นายสมบุญซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 28853 ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทำการปักเสาคอนกรีตพร้อมขึงรั้วลวดหนามและก่อสร้างกำแพงคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะ ทำให้นายสมบุญไม่สามรถใช้ทางดังกล่าวในการสัญจรได้จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินสาธารณะภายใน 30 วัน และส่งเจ้าหน้าที่ออกไปรังวัดแนวเขตที่ดินพิพาทร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 4 ทำการรังวัดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 4 ทำการรังวัดที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่สาธารณะแต่โจทก์ไม่ดำเนินการ และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 และมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ขอทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ นฐ 71201/293 ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง จึงเป็นกรณีที่ล่วงเลยระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมายแล้ว และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ นฐ 71201/255 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 และโจทก์ยังไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 71201/692 ก่อนฟ้องคดีตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงยังไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจออกคำสั่งว่าที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีคำสั่งใดๆ ที่กระทบสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 และคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า นายอำเภอสามพรานมีหนังสือขอความร่วมมือสอบเขตที่สาธารณประโยชน์ลำลาดแยกคลองลำบางยาง โดยมอบให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลคลองจินดา เป็นผู้ชี้แนวเขตร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองจินดา โจทก์ได้มาร่วมชี้เขตด้วยแต่ได้ให้ถ้อยคำว่ายังไม่รับรองเขตถูกต้อง โดยขอให้อำเภอสามพรานนำช่างรังวัดปักหลักไม้ไปก่อน จำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของทางราชการแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการส่งไปให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็นต่อไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่องการพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ.2544 ข้อ 19
ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งว่า คดีนี้มีประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดนครปฐม
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลจังหวัดนครปฐมและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลจังหวัดนครปฐมนัดพร้อมคู่ความและมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน ให้รังวัดทำแผนที่วิวาท ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา มีราคาประเมินตารางวาละ 650 บาท คิดเป็นเงิน 267,150 บาท จึงมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงนครปฐมเพื่อพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
ศาลแขวงนครปฐมมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรือไม่กระทำการ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ข้อ 4 โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินภายในเส้นสีดำหมายสีแดงในแผนที่พิพาทจำนวน 14 ไร่ 2 งาน 99 ตารางวา และภายในเส้นสีดำหมายสีเขียวเนื้อที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงพิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 15 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา และคำขอท้ายคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องฉบับดังกล่าวก็เป็นคำขอร้องต่อเนื่องจากคำขอหลักที่ไม่มีทุนทรัพย์ดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 และมาตรา 25 (4) จึงไม่รับโอนคดีนี้และให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดนครปฐม
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่มีว่า คำสั่งศาลแขวงนครปฐมที่ไม่รับโอนคดีนี้จากศาลจังหวัดนครปฐมชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีนี้เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ดังที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ และกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณะให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินดังกล่าวในบริเวณที่เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการปักเสาไม้ไว้หากไม่รื้อถอนจำเลยที่ 1 จะดำเนินคดีกับโจทก์ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันและให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง คือ ที่ดินจำนวน 1 ไร่ 11 ตารางวา ราคา 267,150 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงศาลปฐม แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่อง เมื่อศาลแขวงนครปฐมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักว่าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่แล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคำขอต่อเนื่องดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) ที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้น ศาลีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัยว่า ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2550 ข้อ 4 โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินภายในเส้นสีดำหมายสีแดงในแผนที่พิพาทจำนวน 14 ไร่ 2 งาน 99 ตารางวา และภายในเส้นสีดำหมายสีเขียวเนื้อที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงพิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 15 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ว่า อ่านคำร้องของโจทก์แล้วไม่เข้าใจว่าโจทก์ต้องการแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนใดของคำฟ้องเดิม จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทำคำร้องฉบับใหม่โดยบรรยายให้ชัดว่าต้องการแก้ไขคำฟ้องเดิมในส่วนใด หรือต้องการเพิ่มเติมคำฟ้องลงไปตรงส่วนใดของคำฟ้องเดิม โดยให้ทำคำร้องฉบับใหม่มายื่นต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นจะมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ปรากฏว่าโจทก์มิได้ทำคำร้องฉบับใหม่มายื่นภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ดังที่ศาลแขวงนครปฐมวินิจฉัย แต่ถือว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา เท่านั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ที่ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งให้โอนคดีเรื่องนี้ไปยังศาลแขวงนครปฐมเพื่อพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย นั้นชอบแล้ว การที่ศาลแขวงนครปฐมมีคำสั่งไม่รับโอนคดี ไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบ”
พิพากษายกคำสั่งของศาลแขวงนครปฐมที่ไม่รับโอนคดี ให้ศาลแขวงนครปฐมพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ