คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ชอบที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 ประกอบมาตรา 229 แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับฟ้องแย้งเดิมซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งสืบเนื่องมาจากคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งเดิมของจำเลยนั่นเอง เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งเดิม และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้ว เช่นนี้ การที่จำเลยยังคงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่ายื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ย่อมมีผลเท่ากับไม่รับอุทธรณ์ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามมาตรา 236 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดยมีจำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันขอสินเชื่อประเภทเงินกู้ไปจากโจทก์รวม 6 บัญชี จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ได้ขอสินเชื่อกู้เงินประเภทบัญชีเดินสะพัดจากโจทก์อีก 5 บัญชี โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 หลายแปลงมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ในวงเงินทั้งสิ้น 205,000,000 บาท จำเลยที่ 7 และที่ 8 ยังได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ในวงเงินอีก 194,000,000 บาท หลังจากที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้วได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนอง คิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 192,667,866 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 116,226,017.51 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งแปดไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งแปดขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยอื่นๆ ซื้อที่ดินมาเพื่อพัฒนาทำบ้านจัดสรรขาย โดยมีโจทก์เป็นผู้สนับสนุนโครงการด้านการเงินมีมูลค่า 205,000,000 บาท จึงขอสินเชื่อจากโจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และจำเลยอื่นๆ นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 หลายแปลงมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ให้แก่โจทก์ในวงเงินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาจ่ายเงินกู้ให้เพียง 85,762,335 บาท เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และจำเลยอื่นๆ ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปให้สำเร็จได้ ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินรวม 17 แปลงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการไถ่ถอน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 ว่า รับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ส่วนฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 คืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับไปทั้งหมด ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ลงชื่อทราบคำสั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542
ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 8 ธันวาคม 2542 ว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้ง และศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับคืนค่าขึ้นศาลจำนวน 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 ธันวาคม 2542 ขอให้ศาลชั้นต้นทบทวนคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 22 ธันวาคม 2542 ให้ยกคำร้องค่าคำร้องให้เป็นพับ
ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งลงวันที่ 8 ธันวาคม 2542 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ลงชื่อทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 ดังปรากฏในคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งนี้ในวันที่ 10 มกราคม 2543 เกินกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 คืนค่าขึ้นศาลให้รับไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อ้างว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2542 นั้น ศาลเห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ตั้งแต่แรกแล้ว สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ย่อมเริ่มขึ้นนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 นั้น เป็นการแก้ไขฟ้องแย้งเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 แล้ว ก็ไม่มีฟ้องแย้งเดิมที่จะแก้ ดังนั้น จึงต้องเริ่มนับกำหนดเวลาอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่ทราบคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227, 229 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 จำเลยดังกล่าวทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 ครบกำหนด 1 เดือน วันที่ 12 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2543 จึงเกินกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ชอบที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227, ประกอบมาตรา 229 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กลับยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับฟ้องแย้งเดิมซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งสืบเนื่องมาจากคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งเดิมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 นั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งเดิม และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้ว เช่นนี้การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ยังคงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่ายื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ย่อมมีผลเท่ากับไม่รับอุทธรณ์ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นคำสั่งศาลอุทธรณ์นี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share