คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยเสมอไป เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์แล้วไม่เชื่อว่าการเจ็บป่วยของจำเลยจะมีอาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจว่าไม่สมควรมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลยนั่นเอง และเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยและใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏต่อศาลชั้นต้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้ โดยไม่ต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 145,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทุกเดือน และจะชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 3 มกราคม 2538 หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 351,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 145,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ สัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 145,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2537 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 11 กรกฎาคม 2546) ต้องไม่เกิน 206,625 บาท ตามคำขอของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอ้างเหตุว่า จำเลยป่วยเป็นโรคเบาหวานและทางเดินปัสสาวะอักเสบไม่อาจมาเบิกความต่อศาลได้ โดยจำเลยแนบในรับรองแพทย์มาพร้อมกับคำร้อง แต่ใบรับรองแพทย์ดังกล่าวระบุเพียงว่า จำเลยไปให้แพทย์ตรวจร่างกายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ผลการตรวจปรากฏว่าจำเลยป่วยเป็นโรคเบาหวานและทางเดินปัสสาวะอักเสบแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาไม่ได้ระบุอาการเจ็บป่วยของจำเลยว่ารุนแรงถึงขนาดต้องพักรักษาตัว คงระบุในช่องความเห็นเพียงว่าจำเลยได้มาตรวจรักษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 เท่านั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าในวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นจากการไปตรวจร่างกายจำเลยจะมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงไม่สามารถมาศาลได้หรือไม่สามารถเบิกความได้ ที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลยหรือทำการไต่สวนก็จะทราบว่าจำเลยเจ็บป่วยจริงและไม่สามารถมาศาลได้นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลยว่าจำเลยป่วยจริงหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 41 วรรคหนึ่งนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยเสมอไป เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยและใบรับรองแพทย์แล้วไม่เชื่อว่าการเจ็บป่วยของจำเลยจะมีอาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจว่าไม่สมควรมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลยนั่นเองและเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยและใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏต่อศาลชั้นต้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งได้ โดยหาจำต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีกไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share