แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งของคู่ความโดยคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ดีเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าการขายทอดตลอดของเจ้าพนักงานบังคับคดีรวมทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัอต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยได้
โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้ขายซึ่งต้องห้ามมิให้เข้าสู้ราคาตาม ป.พ.พ. มาตรา 512
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญากู้เงินและให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาจำนอง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระเงิน 1,074,207.74 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน และยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความ 15,463.79 บาท แก่โจทก์ หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดถ้าได้เงินไม่พอยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินที่จำนอง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 25663 ตำบลตลาดพลู (บางสะแก) อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2 ทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดเป็นสินสมรสวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 ไปดูแลการขายเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีส่วนได้เสีย และมอบป้ายหมายเลข 013 ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับยกคัดค้านหากไม่เห็นชอบกับการขาย แต่เมื่อถึงเวลาขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิคัดค้าน และไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 แล้วเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ทั้งที่เป็นการขายครั้งแรกจำเลยทั้งสองได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลเข้าทำสัญญากับองค์กรการเงินระหว่างประเทศราคาทรัพย์สินของประชาชนตกไปประมาณร้อยละ 60 ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยทั้งสองได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150, 205 และ 219 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4, 6, และ 48 จึงหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 และเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ทั้งที่เป็นการขายครั้งแรกแต่คำร้องของจำเลยทั้งสองไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 คัดค้านการขายในเรื่องใด กลับปรากฏตามสำเนารายงานการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จำเลยทั้งสองแนบมาท้ายคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติการขายเพราะไม่มีผู้ใดค้านราคาที่โจทก์เข้าสู้เป็นเงิน 1,500,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์โดยมิได้ยกเหตุที่อ้างว่าได้คัดค้านการขายไว้แล้วขึ้นเป็นประเด็นอีก คงอุทธรณ์เหตุอื่นตามที่อ้างไว้ในคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบ เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงภายในประเทศอันมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 และหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 และอุทธรณ์อ้างถึงกฎหมายอีกหลายฉบับที่ออกมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจว่าไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ รวมถึงสิทธิต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นและพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งปัญหาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 และมาตรา 219 ฎีกาของจำเลยที่ 1 คงกล่าวถึงการใช้การตีความกฎหมายและระบอบการปกครอง แล้วสรุปว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีรวมทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลฎีกาเห็นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองคดีนี้โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้งแย้งของคู่ความโดยคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ดีเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งขัอต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีรวมทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัอต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อมาตรา 512 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์เข้าสู้ราคาและซื้อทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดเสียเองนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ขายซึ่งต้องห้ามมิให้เข้าสู้ราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาหาได้ไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเข้าสู้ราคาและซื้อทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ