แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 ไปศึกษาต่อต่างประเทศก่อนโจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาหลายปี มีครอบครัวและประกอบอาชีพอยู่ต่างประเทศ แต่จำเลยที่ 4ยังมีสัญชาติไทย มีชื่อ ในทะเบียนบ้านตามที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องและเคยเดินทางกลับมาประเทศไทยหลายครั้ง ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 4ยังมีภูมิลำเนาในประเทศไทยตามทะเบียนบ้านนั้น พนักงานเดินหมายปิดคำบังคับ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 4 ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2527 ถือได้ว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 4 ชอบแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2530 จำเลยที่ 4เพิ่งมายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2531ซึ่งพ้นกำหนด 6 เดือนไปแล้วนับแต่วันยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายตั๋วเงินและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2530
จำเลยที่ 4 ยื่นคำขอให้พิจารณใหม่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม2531 อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 4 ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดี หากทราบว่าถูกฟ้องคดีก็สามารถพิสูจน์ความไม่ถูกต้องของพยานหลักฐานโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว วินิจฉัยว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 4 ไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงซึ่งจะแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า หากมีการพิจารณาคดีใหม่แล้ว จำเลยที่ 4 อาจชนะคดีได้อย่างไร คำขอให้พิจารณาใหม่จึงมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 218 วรรคท้าย ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 4ได้บรรยายครบถ้วนชัดแจ้งแล้ว และขณะโจทก์ดำเนินคดีนี้จำเลยที่ 4 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ต่อศาลชั้นต้นเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์เป็นการพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 218 แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 4 ได้บรรยายครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคท้ายหรือไม่ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผล พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้จำเลยที่ 4 ไปศึกษาต่อต่างประเทศก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาหลายปี มีครอบครัวและประกอบอาชีพอยู่ต่างประเทศ แต่จำเลยที่ 4 ยังมีสัญชาติไทย มีชื่อในทะเบียนบ้านตามที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องและเคยเดินทางกลับมาประเทศไทยหลายครั้ง ถือว่าจำเลยที่ 4 ยังมีภูมิลำเนาในประเทศไทยตามทะเบียนบ้านนั้น การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หมายแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ ตลอดจนคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 4 ตามภูมิลำเนาดังกล่าวโดยการปิดหมายและคำบังคับจึงเป็นตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่12 ธันวาคม 2527 ปรากฏตามรายงานการเดินหมายลงวันที่ 12 ธันวาคม2527 จึงถือว่าได้มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 4 โดยชอบแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 14กรกฎาคม 2530 ปรากฏตามรายงานขออนุญาตขายทอดตลาดทรัพย์ลงวันที่27 พฤศจิกายน 2530 ในสำนวน จำเลยที่ 4 เพิ่มมายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 ซึ่งพ้นกำหนด 6 เดือนไปแล้วนับแต่วันยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรคคแรก…”
พิพากษายืน.