คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด แต่ได้พังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะไปแล้ว ย่อมกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาล เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ 3เป็นช่างรังวัดที่ดิน รับราชการอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอ่างทองเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 ให้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดที่ 6401 เนื้อที่ 4 ไร่ ซึ่งมีด้านทิศเหนือติดคลองตาทองเป็นทางสาธารณะคนละครึ่งจำนวน 2 ไร่ ในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินทางด้านทิศตะวันตกจำนวน 2 ไร่ ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ส่วนทางด้านทิศตะวันออกได้แก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ได้นำจำเลยที่ 3 รังวัดแบ่งที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือออกให้เป็นที่สาธารณะ 1 งาน 60 ตารางวา ซึ่งความจริงที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศเหนือที่ติดคลองตาทองมีเนื้อที่ดินเว้นไว้ 1 งาน 60 ตารางวาไม่ จึงทำให้เนื้อที่ดินขาดไปและเมื่อแบ่งให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 จำนวน 2 ไร่แล้ว โจทก์จึงได้เนื้อที่ส่วนที่เหลือขาดไป 1 งาน 60 ตารางวา คิดเป็นราคาประมาณ1,000 บาท จำเลยที่ 3 ได้เสนอเรื่องรังวัดแบ่งแยกดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ออกโฉนดที่ 10991 ให้จำเลยที่ 4ที่ 5 ระบุเนื้อที่ 2 ไร่ ซึ่งจะต้องไม่เป็นไปตามจำนวนเนื้อที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบ จึงขอให้ยกเลิกการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 6401 ลงวันที่ 17 มกราคม 2521 ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอ่างทองรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวใหม่โดยให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ได้ทางด้านทิศตะวันตกตามรูปแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง 2 ไร่และให้แก้เนื้อที่ดินในโฉนดที่ 6401 และ 10991 ให้ตรงกับจำนวนเนื้อที่ที่ได้รังวัดใหม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า น้ำได้เซาะที่ดินด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดที่ 6401 ซึ่งติดกับคลองตาทองทางน้ำสาธารณะไปประมาณ 1 งาน 60 ตารางวา โดยโจทก์ไม่ได้หวงกัน แสดงการครอบครองเนื้อที่ที่ถูกน้ำเซาะให้ประจักษ์ที่ดินที่ขาดไปจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยจึงออกโฉนดที่ดินให้โจทก์เต็มเนื้อที่ไม่ได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ที่ 5ให้การว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ตกลงยกที่ดินตามโฉนดที่ 6401 ให้จำเลยทั้งสองคนละ 1 ไร่ วัดจากเสาหินเดิมทางด้านทิศตะวันตก ส่วนที่เหลือเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 1,000 บาทและยอมออกค่าธรรมเนียมในการรังวัดที่ดินเพียงฝ่ายเดียวจำเลยที่ 3 ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชอบและถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง โจทก์จำเลยแถลงของดสืบพยานบุคคล ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามพยานเอกสารที่คู่ความทุกฝ่ายอ้างและส่งเป็นพยาน ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 6401 ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 โดยหักเป็นทางน้ำสาธารณะ 1 งาน 60 ตารางวา ออกก่อนแล้วจึงแบ่งที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 คนละ 1 ไร่ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 203/2520 ของศาลชั้นต้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ คดีรับฟังได้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 203/2520 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า “โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินโฉนดที่ 6401 ตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ให้จำเลยทั้งสองคนละ 1 ไร่ โดยวัดจากเสาหินเดิมด้านทิศตะวันตก ที่ดินส่วนที่เหลือเป็นของโจทก์…” ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอม โจทก์และจำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอ่างทอง และนำจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นช่างรังวัดออกไปรังวัดที่พิพาท จำเลยที่ 3เห็นว่าที่ดินทางด้านทิศเหนือได้พังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะเนื้อที่ 1 งาน 60 ตารางวา ที่โจทก์อ้างว่าที่พิพาทไม่ได้พังเป็นทางน้ำสาธารณะนั้น เห็นว่า ตามบันทึกการรังวัดของจำเลยที่ 3เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 31 ซึ่งรังวัดเมื่อวันที่ 17, 18 มกราคม2521 ตอนท้ายมีบันทึกเสนอระบุว่าสภาพที่ดินทางด้านทิศเหนือได้พังลงน้ำกลายสภาพเป็นคลองไปแล้ว นอกจากนี้โจทก์เองก็เคยรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2523ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 203/2520 ของศาลชั้นต้นว่า แผนที่ที่จำเลยที่ 3 ทำขึ้นถูกต้องข้อเท็จจริงจังฟังได้ว่า ที่ดินด้านทิศเหนือพังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะเป็นเนื้อที่ 1 งาน 60 ตารางวาซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รังวัดหักที่เป็นทางน้ำสาธารณะออก โดยจำเลยที่ 3 กระทำตามคำสั่งที่ 23/2481 ของกรมที่ดินและโลหกิจ กระทรวงเกษตราธิการ คำสั่งกรมที่ดินที่ 5/2485 กฎกระทรวง ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และได้นำส่วนที่เหลือของที่พิพาทมารังวัดแบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวคนละ1 ไร่ รวมเป็น 2 ไร่ ตามเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่า จำเลยที่ 3ได้รังวัดแบ่งแยกดังกล่าวเป็นการถูกต้อง เพราะที่พิพาทได้พังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะไปแล้ว จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ในส่วนนี้เนื้อที่ 1 งาน 60 ตารางวา จึงไม่ใช่ที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ 6401 อีก และการรังวัดแบ่งแยกให้แก่จำเลยที่ 4 ที่ 5 คนละ 1 ไร่ ก็เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมแล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share