แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การแต่เพียงว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของ ส. และ ว.ตราประทับก็ไม่ใช่ของบริษัทโจทก์ ซึ่งเป็นการให้การปฏิเสธลอยๆ แต่เพียงว่าตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ตราของบริษัทโจทก์เท่านั้น ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย
ตามสัญญาโฆษณากำหนดวันชำระหนี้ไว้ว่า ชำระเงินหลังวันโฆษณาภายใน 30 วัน ส่วนวันโฆษณาคือวันที่ 4 และ 9 ธันวาคม 2540 ดังนั้น วันครบกำหนดชำระเงินคือภายในวันที่ 3 และ 8 มกราคม 2541 จึงถือได้ว่ามีกำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนตามปฏิทิน แต่เมื่อพนักงานของโจทก์ไปส่งใบแจ้งหนี้และใบวางบิลให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยระบุในใบรับวางบิลว่า โปรดมารับเงินวันที่ 13 มีนาคม 2541 โจทก์มิได้ทักท้วง แสดงว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอาวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาโฆษณา เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปจำเลยจะผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้มอบอำนาจให้นายสมนึกหรือนางสาวอัญชลีเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540 จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำการโฆษณาสินค้าของจำเลยในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐใช้ชื่อสินค้าว่า แคมเปญมหกรรมบ้านและรถยนต์ โดยให้โฆษณาในวันที่ 4 และ 9 ธันวาคม 2540 ค่าจ้างโฆษณารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 479,750.50 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 โจทก์ได้ลงโฆษณาสินค้าของจำเลยถูกต้องตามสัญญา และทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างโฆษณาแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 548,704.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 479,750.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ อีกจำนวน 187,582.25 บาท และค่าเสียหายจากต้นเงิน 479,750.50 บาท ในอัตราร้อยละ 1.7 ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของผู้มอบอำนาจไม่ถูกต้องและตราประทับก็ไม่ใช่ตราประทับของบริษัทโจทก์ จำเลยไม่เคยตกลงทำสัญญาโฆษณาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 กับโจทก์ ลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้างไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลย ไม่มีการประทับตราบริษัทจำเลยไม่ปรากฏว่ามีชื่อบริษัทจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องในการโฆษณาหรือเป็นเจ้าของโครงการที่โจทก์โฆษณา เอกสารใบแจ้งหนี้และใบวางบิลที่แจ้งให้จำเลยชำระค่าโฆษณาให้แก่โจทก์ไม่มีลายมือชื่อในช่องผู้รับในเอกสาร จำเลยไม่เคยออกใบรับวางบิล ลายมือชื่อของผู้รับวางบิลไม่อาจทราบได้ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ใด จำเลยจึงไม่จำต้องชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 479,750.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่ารอยตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่ตราประทับที่โจทก์จดทะเบียนโดยถูกต้อง เห็นว่า ในประเด็นนี้จำเลยให้การแต่เพียงว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของนายสมนึก และนายวิสุทธิ์ และตราประทับก็ไม่ใช่ตราประทับของบริษัทโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นการให้การปฏิเสธลอยๆ แต่เพียงว่าตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ตราของบริษัทโจทก์เท่านั้นคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้วินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็น ทั้งข้อที่จำเลยฎีกาว่ารอยตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่ตราประทับที่โจทก์จดทะเบียนโดยถูกต้องนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าสัญญาโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ไม่สมบูรณ์เพราะการลงลายมือชื่อของโจทก์ไม่มีกรรมการลงลายมือชื่อให้ครบถ้วนและกรรมการของจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อกับไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยตามเงื่อนไขในหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ รายละเอียดเกี่ยวกับการจ้างก็ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับจำเลย และจำเลยไม่ได้รับเอกสารใบวางบิลกับจำเลยไม่ได้ออกเอกสารใบรับรองวางบิลนั้น โจทก์มีนายสมนึก กาญจนเวสารัชเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตามสัญญาโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ค่าจ้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 479,750.50 บาท โจทก์ดำเนินการลงโฆษณาแล้วโดยใช้ชื่อว่า มหกรรมบ้าน-ที่ดิน-คอนโด รถมือสองนานาชาติตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จากนั้นโจทก์ส่งเอกสารใบแจ้งหนี้และใบวางบิลเพื่อแจ้งให้จำเลยชำระค่าโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง 7.9 จำเลยได้รับแล้วโดยออกเอกสารใบรับวางบิลกำหนดเวลาให้โจทก์ไปรับเงินในวันที่ 13 มีนาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.10 ครั้นเมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์โจทก์มีหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.11 ให้จำเลยชำระหนี้จำเลยได้รับแล้วตามเอกสารหมาย จ.12 แต่ก็เพิกเฉย เห็นว่า แม้พยานจะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า สัญญาโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ในส่วนของฝ่ายโจทก์มีพยานลงลายมือชื่อเพียงคนเดียวและประทับตราของโจทก์ ส่วนฝ่ายจำเลยมีชื่อนางสาวนฤมล ปันส่วน ซึ่งพยานไม่ทราบว่าเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยหรือไม่ลงลายมือชื่อและไม่มีรอยตราประทับของบริษัทจำเลย ซึ่งเท่ากับว่าสัญญาโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวในส่วนของโจทก์มิได้มีกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ตามข้อบังคับดังที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และในส่วนของจำเลยมิได้มีนางปรานอมกรรมการลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่ง และประทับตราสำคัญของจำเลยตามข้อบังคับดังที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.14 ก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุชื่อคู่สัญญาไว้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย นอกจากนี้นางสาวนฤมลเป็นพยานจำเลยเบิกความว่าพยานทำงานกับจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานโฆษณา และจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.4 โดยในช่องผู้ว่าจ้างเป็นลายมือชื่อของพยานกับอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยและเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ได้มีการลงโฆษณาตามที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์แล้ว อันเป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ ดังนี้จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์แล้ว และภายหลังทำสัญญาโจทก์และจำเลยต่างถือเอาสัญญานั้นมาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของตนโดยเฉพาะจำเลยมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 ข้อ (2) คือ ขาย โอน จำนอง จำนำ แลกเปลี่ยนและจำหน่ายทรัพย์สินโดยประการอื่น ฯลฯ แม้ตามรายการโฆษณาเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จะมีคำว่า กฤษดามหานคร และ M.C.C. ศูนย์กลางรถยนต์มหานคร อยู่ด้วย ก็มิได้สื่อความหมายว่าจำเลยมิได้จ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณา เพราะรายการโฆษณาระบุว่ามหกรรมบ้าน-ที่ดิน-คอนโด รถมือสองนานาชาติ ส่วนรายละเอียดระบุถึงการโฆษณาขายบ้าน ที่ดินและรถยนต์ อันเป็นการขายทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ของจำเลยจึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับผลประโยชน์ที่นางสาวนฤมลได้กระทำลงไป เป็นการให้สัตยาบันและมีผลผูกพันจำเลยและโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้รับเอกสารใบวางบิลกับจำเลยไม่ได้ออกเอกสารใบรับวางบิลนั้น โจทก์มีนายสมรเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ส่งใบแจ้งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 รวมทั้งใบวางบิลตามเอกสารหมาย จ.9 ให้แก่จำเลยที่ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำเลยออกใบรับวางบิลให้ตามเอกสารหมาย จ.10 โดยผู้ลงลายมือชื่อผู้รับเป็นพนักงานของบริษัทจำเลย ซึ่งแม้จำเลยจะมีที่อยู่ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 ว่าอยู่ที่ 22/391 ถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ตามหนังสือรับรองดังกล่าวออกให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ส่วนหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.14 ระบุที่อยู่ของจำเลยว่า (ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2539-วันที่ 25 กรกฎาคม 2542) อยู่ที่ 115/1 ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันที่ออกใบรับวางบิลคือ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยยังมีที่อยู่ตามเอกสารหมาย จ.14 ตรงกับที่อยู่ตามใบรับวางบิลดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสมรไปส่งใบแจ้งหนี้และใบวางบิลยังที่อยู่ของจำเลยตามเลขที่ดังที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.14 จึงถือได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบแล้วโดยมิต้องคำนึงว่าจำเลยจะออกใบรับวางบิลให้หรือไม่ เพราะมิใช่ข้อสาระสำคัญ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า ตามสัญญาโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้ว่า ชำระเงินหลังวันโฆษณาภายใน 30 วัน ส่วนวันโฆษณาคือวันที่ 4 และ 9 ธันวาคม 2540 ดังนั้น วันครบกำหนดชำระเงินคือภายในวันที่ 3 และ 8 มกราคม 2541 จึงถือได้ว่ามีการกำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนตามปฏิทิน แต่เมื่อพนักงานของโจทก์ไปส่งใบแจ้งหนี้และใบวางบิลให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยระบุในใบรับวางบิลเอกสารหมาย จ.10 ว่า โปรดมารับเงินวันที่ 13 มีนาคม 2541 และโจทก์ก็มิได้ทักท้วง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอาวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ส่วนจำเลยจะผิดนัดหรือไม่ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ได้ เมื่อโจทก์นำสืบว่าได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.11 ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยให้เวลาภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และใบตอบรับเอกสารหมาย จ.12 ระบุว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 แล้วไม่ชำระ จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2542 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้