คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินโฉนดเลขที่ 77 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของ ส. ห. และ ม.ต่อมาบุคคลทั้งสามขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 และ จ. จำเลยที่ 1 ไม่ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจาก ส. และไม่ได้ครอบครองที่ดินด้วยเจตนาเป็นเจ้าของในฐานะผู้ซื้อ การที่จำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลแพ่งในคดีแพ่งว่า ส. ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 77 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 70,000 บาทชำระเงินเรียบร้อยแล้ว และได้เข้าครอบครองมา 20 ปีเศษเพื่อให้ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดี
ฟ้องของโจทก์บรรยายว่า คำเบิกความของจำเลยในคดีแพ่งเป็นข้อสำคัญในคดีและคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อ จึงมีคำสั่งให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 77 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1เป็นการบรรยายให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร พอที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ และนายเจริญเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗ โดยซื้อมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม ต่อมานายเจริญถึงแก่กรรมโจทก์ที่ ๒ ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายเจริญตามคำสั่งของศาลแพ่ง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเอาความเท็จไปเบิกความในการพิจารณาคดีในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๘๐๒/๒๕๒๓ ของศาลแพ่ง โดยจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ นางเสมมารดาจำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ในราคา ๗๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ตกลงซื้อและชำระเงินให้มารดาจำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ เข้าปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าว ไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้อง จำเลยที่ ๑ ครอบครองที่ดินมา ๒๐ ปีเศษและได้กรรมสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ ๒ เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ ทราบและรู้เห็นการที่มารดาขายที่ดินโฉนดที่ ๗๗ แขวงประเวศให้แก่จำเลยที่ ๑ ราคา ๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคำเบิกความของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีเป็นเหตุให้ศาลแพ่งหลงเชื่อ มีคำสั่งให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ความจริงแล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗ จากนางเสม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๘๓
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ และเมื่อไต่สวนเสร็จแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาโจทก์ที่ ๑ ถึงแก่ความตาย นายวินัยสามีได้เข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอายามาตรา ๑๗๗ ให้จำคุก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางเสมมารดาจำเลยที่ ๑ นายมะหะหมัดและเด็กชายมูมินมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ บุคคลทั้งสามได้ทำนิติกรรมให้นายสมานเข้ามามีกรรมสิทธิ์รวม ๘๐๐ ส่วนในจำนวน ๑๐๑๐๘ ส่วน และในปีเดียวกันนั้นซึ่งเป็นปีที่นายมูมินบรรลุนิติภาวะบุคคลทั้งสามได้ร่วมกันเอาที่ดินแปลงนี้เฉพาะส่วนของบุคคลทั้งสามไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ต่อมาได้ร่วมกันไถ่ถอนจำนองและโอนขายให้แก่โจทก์ที่ ๑ และนายเจริญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ กับฟังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ซื้อที่ดินจากนางเสมและไม่ได้ครอบครองที่ดินด้วยเจตนาเป็นเจ้าของในฐานะผู้ซื้อดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ เบิกความต่อศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๘๐๒/๒๕๒๓ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๘๒๔/๒๕๒๓ ว่านางเสมขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคา ๗๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินให้นางเสมเรียบร้อยแล้ว และได้เข้าครอบครองมา ๒๐ ปีเศษ เพื่อให้ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ โดยการครอบครองปรปักษ์ คำเบิกความของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดี
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายแต่เพียงว่า คำเบิกความของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๘๐๒/๒๕๒๓ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๘๒๔/๒๕๒๓ เป็นข้อสำคัญในคดีเท่านั้น โจทก์ยังบรรยายข้อความติดต่อกันไปให้เห็นว่า เพราะคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลแพ่งหลงเชื่อ และมีคำสั่งให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ อีกด้วยเป็นการบรรยายให้เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร พอที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์
พิพากษายืน

Share