คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจกท์คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 กับพวกร้องขัดทรัพย์ในคดี ดังกล่าว โจทก์ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 สละมรดกให้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ โดยสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 หรือของผู้ร้องขัดทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 2 กับพวก มิใช่ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้สละมรดกโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการสละมรดกระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 อีก แม้จะอ้างเหตุเพิกถอนการฉ้อฉล แต่คดีก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การสละมรดกของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยชอบหรือไม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ยืมไปจากโจทก์เป็นเงิน 270,000 บาท ตั้งแต่ปี 2539 และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 354,374 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2544 ของศาลชั้นต้น แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบโดยสละมรดกที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมจากนายชุมพลซึ่งเป็นน้องชายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะบังคับคดีได้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมหนังสือสละมรดกฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2544 ของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลว่าจำเลยที่ 2 เคยช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 กู้เงินเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ต้องสละทรัพย์มรดกที่จะได้รับจากนายชุมพลตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 2 แต่โจทก์ยังคงดำเนินการบังคับคดีโดยยึดทรัพย์มรดกของนายชุมพลซึ่งจำเลยที่ 2 กับพวกได้ร้องขัดทรัพย์ไว้ และโจทก์สามารถต่อสู้เรื่องสิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ในชั้นร้องขัดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 กับพวก เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องของเพิกถอนนิติกรรมการสละมรดกเป็นคดีนี้อันเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2544 ชั้นร้องขัดทรัพย์ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2544 โจทก์คดีนี้ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 354,374 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์บังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพาษา จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้ร้องขัดทรัพย์ในคดี ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ยกข้อต่อสู้ว่าการยื่นคำร้องขัดทรัพย์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 สละมรดกให้แก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ เป็นเพียงการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างผู้ร้องขัดทรัพย์กับจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 หรือของผู้ร้องขัดทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นผู้ร้องขัดทรัพย์ มิใช่ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งสละมรดกโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการสละมรดกโดยชอบ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความคือจำเลยที่ 2 กับพวกและโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการสละมรดกระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 อีก แม้จะอ้างเหตุเพิกถอนการฉ้อฉล แต่คดีก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การสละมรดกของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยชอบหรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share