คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน เมื่อแบ่งแยกที่ดินเป็นของโจทก์ตามส่วนที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานผู้จัดการมรดกของ ฉ. แล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นๆ ยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ การจะแบ่งที่ดินที่เหลือให้เป็นส่วนของจำเลยทั้งสามแยกต่างหากจากเจ้าของรวมคนอื่นอีกหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นที่ต้องว่ากล่าวกันเอง โจทก์หามีสิทธิที่จะขอให้แบ่งแยกที่ดินในส่วนของจำเลยทั้งสามออกจากที่ดินที่เหลือดังกล่าวด้วยไม่ ทั้งการกำหนดส่วนแบ่งของจำเลยทั้งสามตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีกับจำเลยทั้งสาม คำขอของโจทก์ที่ให้แบ่งแยกที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจบังคับได้ เป็นผลให้ต้องยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรีตามคำสั่งศาล นางเฉลิมศรีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1170 ครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ทั้งหมด 83 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 โจทก์ได้ยื่นฟ้องนางอารีกับพวกรวม 6 คน ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 434/2540 ให้นางอารีกับพวกแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรีเป็นเนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา เป็นของนางอารีกับพวก ต่อมาเมื่อโจทก์ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกที่ดิน ปรากฏว่านางอารีโอนกรรมสิทธิ์ส่วนของนางอารีให้แก่จำเลยทั้งสามไปก่อนแล้ว โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสามแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1170 ตำบลบึงสาน (คลองซอยที่ 14 ฝั่งตะวันออก) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นของโจทก์เนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา และเป็นของจำเลยทั้งสามเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 99.5 ตารางวา ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ถ้าสภาพแห่งทรัพย์ไม่อาจแบ่งแยกได้หรือไม่อาจบังคับได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งเงินแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรีครึ่งหนึ่งและจำนวนทั้งสามหนึ่งในสี่ของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
จำเลยที่ 1 และมี 2 ให้การว่า การถือกรรมสิทธิ์รวมไม่มีการตกลงแบ่งกันว่าใครอยู่ส่วนไหน จำเลยทั้งสามรับโอนกรรมสิทธิ์มาจากนางอารี ก่อนที่นางอารีจะถูกโจทก์ฟ้อง โจทก์จึงบังคับคดีแก่นางอารีไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินดีแบ่งแยกที่ดินในส่วนที่จำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 99.5 ตารางวา อยู่แล้ว แต่โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ระบุว่าจำเลยทั้งสามจะต้องแบ่งส่วนไหนอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ดิน 1170 ตำบลบึงสาน (คลองซอยที่ 14 ฝั่งตะวันออก) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่โจทก์ เป็นเนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากไม่อาจแบ่งแยกที่ดินได้ไม่ว่าด้วยประการใด ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดทนายความ 2,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรีตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5650/2533 ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ. 1 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1170 ตำบลบึงสาน (คลองซอยที่ 14 ฝั่งตะวันออก) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 83 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา มีนางเฉลิมศรีและนางเปี๊ยะถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ปี 2495 นางอารี นางมาเรียม และนางศรียาเข้าถือกรรมสิทธิ์ในส่วนของนางเปี๊ยะ ปี 2534 นายศักดา พันจ่าอากาศเอกพินิจ นางสุรีรัตน์ และนายบุญเลิศ เข้าถือกรรมสิทธิ์ในส่วนของนางมาเรียม ต่อมาปี 2538 โจทก์ยื่นฟ้องนางอารีกับผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินดังกล่าวรวม 6 คน เพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 434/2540 ให้นางอารีกับพวกดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินเป็นของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรี เนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา ให้เป็นของนางอารีกับพวก หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากไม่อาจแบ่งแยกที่ดินได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรีครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของนางอารีกับพวกตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.3 แต่โจทก์ไม่อาจบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ เนื่องจากนางอารีจดทะเบียนยกที่ดินในส่วนของนางอารีให้จำเลยทั้งสามไปแล้วเมื่อปี 2537 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วน เอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยทั้งสามเป็นการไม่ชอบเพราะเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 บัญญัติให้ศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรังวัดแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา จากเนื้อที่ทั้งหมด 83 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา ซึ่งนอกจากคำขอดังกล่าวแล้วคำฟ้องของโจทก์ยังมีคำขอให้แบ่งแยกที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสามเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 99.5 ตารางวา จากเนื้อที่ทั้งหมดด้วย การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน เมื่อแบ่งแยกที่ดินเป็นของโจทก์ตามส่วนที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเฉลิมศรีแล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นๆ ยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ การจะแบ่งที่ดินที่เหลือให้เป็นส่วนของจำเลยทั้งสามแยกต่างหากจากเจ้าของรวมคนอื่นอีกหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นที่ต้องว่ากล่าวกันเอง โจทก์หามีสิทธิที่จะขอให้แบ่งแยกที่ดินในส่วนของจำเลยทั้งสามออกจากที่ดินที่เหลือดังกล่าวด้วยไม่ ทั้งการกำหนดส่วนแบ่งของจำเลยทั้งสามตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีกับจำเลยทั้งสาม คำขอของโจทก์ที่ให้แบ่งแยกที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสาม เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 99.5 ตารางวา จึงไม่อาจบังคับได้ เป็นผลให้ต้องยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกาเป็นประเด็นขึ้นมาโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อมีเหตุที่ต้องยกคำขอของโจทก์ดังกล่าวแล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีส่วนในที่ดินที่เหลือจากการแบ่งแยกให้แก่โจทก์แล้วเพียงใด จึงไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยทั้งสาม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า โจทก์มิได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินครึ่งหนึ่ง แต่มีส่วนในที่ดินเพียงหนึ่งในสี่คิดเป็นเนื้อที่ 20 ไร่ 30 งาน 99.5 ตารางวา ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่โจทก์เคยทำไว้ที่สำนักงานที่ดินนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินครึ่งหนึ่งคิดเป็นเนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ในส่วนนี้แล้ว ส่วนบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นในคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องนอกเหนือคำให้การและคดี ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงชอบแล้ว ทั้งปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยให้ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในปัญหานี้คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้แบ่งแยกที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสามเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 99.5 ตารางวา และคำขอต่อเนื่องที่ให้แบ่งเงินให้จำเลยทั้งสามหนึ่งในสี่ในกรณีที่มีการขายทอดตลาดที่ดิน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share