แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนนับแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกของผู้ร้อง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับของผู้ร้อง สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องจึงเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสาม คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ผู้ร้องส่งเงินดังกล่าวภายใน 1 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องอนุมัติให้จ่ายเงินจึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อบังคับของผู้ร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 79,458.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับแต่วัดถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องส่งเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนประจำปี 2547 ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจอายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนประจำปี 2547 ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากผู้ร้องสิทธิที่จะนำกำไรดังกล่าวมาจัดสรรให้แก่สมาชิกหรือจะไม่นำมาจัดสรรให้ก็ได้ สมาชิกของสหกรณ์ผู้ร้องรวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในผลประโยชน์ของสหกรณ์ที่จะเรียกร้องเอาได้และไม่มีสิทธิใดๆ เกี่ยวกับกำไรสุทธิของผู้ร้อง ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเงินดังกล่าว ผู้ร้องยังไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2547 เพื่อจัดสรรให้แก่สมาชิก สิทธิต่างๆ ของสมาชิกในเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนจึงเป็นสิทธิที่อาจมีขึ้นหรือไม่ก็ได้และไม่แน่นอนจึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสามารถอายัดไว้ล่วงหน้าได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการบังคับผู้ร้องให้ต้องชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีหนี้ที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ในขณะออกคำสั่ง ทำให้ผู้ร้องได้รับตามเสียหาย คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องได้โต้แย้งและปฏิเสธหนี้ที่เรียกร้องทั้งหมดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของผู้ร้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องมีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนประจำปี 2547 ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ในกรณีที่ผู้ร้องดำเนินกิจการมีผลกำไรสุทธิประจำปี ที่ประชุมใหญ่ผู้ร้องอาจมีมติให้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นของสมาชิกและเงินเฉลี่ยคืนแก่สมาชิกผู้ร้องภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และ ข้อบังคับของผู้ร้องในหมวดว่าด้วยกำไรสุทธิประจำปี ข้อ 22 (1) และ (2) ผู้ร้องยังไม่มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2547 การนำกำไรสุทธิประจำปีของผู้ร้องไปจ่ายเป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนแก่สมาชิกก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งมิได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนไว้ และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีออกคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องไว้ล่วงหน้าได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวาง ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งมีอำนาจรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 และมาตรา 282 (3) หรือในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้ตามมาตรา 311 วรรคสอง ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขหรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนนับแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกของผู้ร้อง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับของผู้ร้อง สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องจึงเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสาม คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ผู้ร้องส่งเงินดังกล่าวภายใน 1 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องอนุมัติให้จ่ายเงินมิได้เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขขัอบังคับของผู้ร้องแต่ประการใด จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ