คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8097/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีและภริยากันได้ร่วมกับ ฉ. ซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อ ฉ. เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมา ฉ. ได้โอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์และจำเลยไม่ได้ร่วมกันซื้อ แต่ ฉ. เป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังนั้น ประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว และจำเลยได้มาโดยการซื้อร่วมกับโจทก์หรือได้รับการยกให้โดยเสน่หาจาก ฉ. จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทจำเลยรับโอนมาจาก ฉ. โดยเสน่หาและเป็นสินสมรส จึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 19688 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ (ลาดพร้าว) จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ไปยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของหรือถือกรรมสิทธิ์ร่วม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ต่อศาลเพื่อโจทก์จะได้นำไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19688 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ (ลาดพร้าว) จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีและภริยากันได้ร่วมกับนายฉายซื้อที่ดินพิพาท โดยใส่ชื่อนายฉายเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายฉายได้โอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์และจำเลยไม่ได้ร่วมกันซื้อแต่นายฉายเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว และภายหลังต่อมาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังนั้น คดีย่อมมีประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวและจำเลยได้มาโดยการซื้อร่วมกับโจทก์หรือได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากนายฉาย จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทจำเลยรับโดนมาจากนายฉายโดยเสน่หาและเป็นสินสมรส จึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวและต้องนำบทบัญญัติกฎหมายใดมาใช้บังคับ จำเลยฎีกาว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 (เดิม) ได้ยกเลิกไปแล้ว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในปี 2541 จึงต้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) (ที่แก้ไขใหม่) มาใช้บังคับ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยนั้น โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2504 โจทก์ จำเลย และนายฉายร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 651 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จากนายแสวงตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาในปี 2508 นายฉายได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว โดยแยกมาเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 19688 แล้วทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเพียงผู้เดียว เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมโฉนดเลขที่ 651 ที่ทำขึ้นระหว่างนายแสวงผู้ถือกรรมสิทธิ์กับนายฉายผู้ขอถือกรรมสิทธิ์ ระบุข้อตกลงว่า นายแสวงยินยอมให้นายฉายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 5 ส่วน เฉพาะส่วนของนายแสวงในจำนวน 15 ส่วน โดยนายฉายตกลงให้ค่าตอบแทนแก่นายแสวงเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท การที่บันทึกข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำขึ้นซึ่งต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ระบุชัดเจนแล้วว่านายฉายเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดที่ดิน 651 มาจากนายแสวงเจ้าของที่ดินเดิม เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ จำเลยและนายฉายร่วมกันซื้อที่ดินดังกล่าว โจทก์ก็ต้องมีหน้าที่นำสืบถึงความไม่ถูกต้องของบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย จ.3 ให้ได้ข้อเท็จจริงตามข้อกล้าวอ้าง แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ว่าโจทก์และจำเลยร่วมออกเงินกับนายฉายซื้อที่ดินดังกล่าว จึงต้องฟังตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า นายฉายเพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 651 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มีส่วนออกเงินร่วมด้วยแต่อย่างใด การที่นายฉายได้แยกกรรมสิทธิ์ที่ดินออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 651 มาเป็นที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 19688 ตามเอกสารหมาย จ.4 และยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ถือได้ว่าที่ดินพิพาทนั้นจำเลยได้กรรมสิทธิ์มาระหว่างสมรสโดยนายฉายยกให้โดยเสน่หา โดยมิได้ระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มาซึ่งประมวลกำหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส นอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 หรือ 1464″ และในมาตรา 1463 และ 1464 บัญญัติในทำนองเดียวกันว่าสินเดิมหรือสินส่วนตัวที่ฝ่ายใดฝ่ายหนี่งได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยทางพินัยกรรมหรือยกให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัว ดังนั้น เมื่อการยกที่ดินพิพาทให้จำเลยมิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวของจำเลย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share