คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4581/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องระบุชื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนครอบครัว ต้องฟ้องนายทะเบียนระบุตำแหน่งโดยตรงนั้นเป็นเรื่องการบรรยายฟ้องระบุชื่อบุคคลและตำแหน่งมาพร้อมกันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ นายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรสให้โจทก์พระราชบัญญัติ จดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะยื่นคำร้อง ต่อศาลโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลไม่จำต้องปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าธรรมเนียมตาม ตารางท้ายประมวลกฎหมายนั้นมิได้เป็นบทบังคับเด็ดขาด แต่เป็น การให้สิทธิแก่โจทก์เป็นกรณีพิเศษจึงไม่ตัดสิทธิของโจทก์ ที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อ โจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมาย ให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้ จดทะเบียนสมรสกันซึ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ แต่ไม่ปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยเป็นคดีมีข้อพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอจดทะเบียนสมรสกัน และได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อจำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมและเป็นนายทะเบียนท้องถิ่นและพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสให้โดยอ้างว่าถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท.0206/1319 ที่ให้อำเภอปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้คนญวนอพยพ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยรับจดทะเบียนสมรสให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จดทะเบียนสมรสเป็นคดีมีข้อพิพาทเพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท โจทก์ที่ 2 เป็นคนญวนอพยพ ไม่มีสิทธิขอให้จดทะเบียนสมรสจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและคำสั่งของทางราชการ จึงไม่เป็นการละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนครอบครัวรับจดทะเบียนสมรสให้แก่โจทก์ทั้งสองและยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2โดยบรรยายว่า “นายเสมอศักดิ์ จิตตะยโศธร ในฐานะนายทะเบียนครอบครัว ที่ 2 จำเลย” ต้องฟ้องนายทะเบียนระบุตำแหน่งโดยตรงเพราะตัวบุคคลอาจย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่กันและนายเสมอศักดิ์ ก็ได้ย้ายไปจากอำเภอท่าอุเทนแล้ว เช่นนี้เป็นเรื่องการบรรยายฟ้องระบุชื่อบุคคลและตำแหน่งมาพร้อมกัน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีมีข้อพิพาทเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้เป็นบทบัญญัติเด็ดขาด กฎหมายบัญญัติเพียงว่า “ถ้านายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล” เป็นการให้สิทธิแก่โจทก์เป็นกรณีพิเศษที่จะยื่นคำร้องต่อศาลโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ไม่จำต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าธรรมเนียมตามตารางท้ายประมวลกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่สิทธิที่จะได้จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ แต่ไม่ยอมปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง โจทก์ทั้งสองย่อมฟ้องจำเลยเป็นคดีมีข้อพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share