แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างโจทก์จำเลยมีว่า การสั่งจ่ายเช็คต้องลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดย ฉ. และ จ. ร่วมกันพร้อมทั้ง ประทับตราบริษัทโจทก์เป็นสำคัญ เช็คพิพาททั้งสองฉบับปรากฏว่า ลายมือชื่อจ.เป็นลายมือปลอมเช็คนั้นจึงเป็นอันใช้ไม่ได้เลย เพราะมีแต่ฉ.ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่ผู้เดียวจำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ดังกล่าวย่อมไม่ทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นและยังเป็นการผิดสัญญา เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวด้วย การที่ ฉ. ลง ลายมือชื่อแท้จริงในเช็คไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์อยู่ในฐานเป็น ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทั้งกรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1006 การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ที่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายปลอม โดยที่จำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า โจทก์ได้ทำปลอมหรือได้ร่วมกระทำปลอมแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธินำจำนวนเงินที่จ่ายไปตามเช็คมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่าโจทก์ เป็นลูกหนี้จำเลยและโจทก์มีสิทธิให้จำเลยเพิกถอนรายการนั้นเสียได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและให้ จำเลยคืนเงินที่จำเลยจ่ายไปตามเช็คซึ่งลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายเป็น ลายมือชื่อปลอม แล้วนำจำนวนเงินนั้นมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แสดงว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนธันวาคม 2518 และฟ้องคดีนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2525 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาฝากเงินประเภทกระแสรายวันไว้กับจำเลยโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจ่ายหรือหักโอนเงินจากบัญชีของโจทก์ได้เฉพาะตามคำสั่งโจทก์ซึ่งทำโดยการสั่งจ่ายเช็คของจำเลยโดยมีนายเฉลิมลงลายมือชื่อร่วมกับนางจินดา พร้อมทั้งประทับตราของโจทก์เป็นผู้สั่งจ่าย ได้มีคนร้ายปลอมลายมือชื่อนางจินดาเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คสองฉบับนำไปเบิกจากจำเลย พนักงานจำเลยได้จ่ายเงินไปรวม 455,300 บาท แล้วนำเช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมนี้หักเงินจากบัญชีของโจทก์ จึงขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดีและว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยคืนเงิน 455,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามเงื่อนไขซึ่งเป็นข้อสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันการออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 5538 ต้องลงลายมือชื่อนายเฉลิมและนางจินดาร่วมกัน เมื่อลายมือชื่อนางจินดาเป็นลายมือชื่อปลอม เช็คนั้นจึงเป็นอันใช้ไม่ได้เลย เช็คพิพาททั้งสองฉบับคงมีแต่นายเฉลิมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่ผู้เดียว จำเลยจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไปย่อมไม่ทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นและยังเป็นการผิดสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวด้วย ทั้งการที่นายเฉลิมลงลายมือชื่อแท้จริงในเช็คไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยฎีกาต่อไปว่า กรณีที่มีทั้งลายมือชื่อปลอมและลายมือชื่อที่แท้จริงฉบับเดียวกัน ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้นเช็คพิพาททั้งสองฉบับมีลายมือชื่อนายเฉลิม ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแท้จริงแล้วย่อมสมบูรณ์ เห็นว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1006ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีก
จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า ฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยจ่ายไปตามเช็คซึ่งลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมแล้วนำจำนวนเงินนั้นมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แสดงว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อายุความจึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 โจทก์ทราบเหตุคดีนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2518 และฟ้องคดีเมื่อ 31พฤษภาคม 2525 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายปลอม โดยจำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าโจทก์ได้ทำปลอมหรือได้ร่วมกระทำปลอมแล้ว จำเลยไม่มีสิทธินำจำนวนเงินที่จ่ายไปตามเช็คมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยและโจทก์มีสิทธิให้จำเลยเพิกถอนรายการนั้นเสียได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน