แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเนื่องจากที่ดินนั้นอยู่ในเขตโบราณสถานที่ทางราชการขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯนั้น.เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาท ศาลฎีการับวินิจฉัยให้. ที่ดินบริเวณใดที่ทางราชการขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานแล้วไม่มีผลทำให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งหมด. เพียงแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองถูกจำกัดสิทธิบางอย่างในที่ดินของตนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติโบราณสถานฯเท่านั้น. ที่ดินนั้นจึงไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันจะมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง. ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ให้ ล. ครอบครองแทนจำเลยสืบสิทธิจาก ล. จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองแทนเช่นเดียวกัน. หากจำเลยจะแย่งการครอบครองหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง ก็ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ทราบก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381. เมื่อจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนแปลงการยึดถือครอบครอง จึงไม่ใช่เรื่องที่ดินพิพาทถูกแย่งการครอบครองซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องเรียกเอาคืนภายใน 1 ปี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า 1 แปลง โจทก์ให้นายหลีปลูกห้องแถวใช้เป็นที่อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเข้าอยู่อาศัยในห้องแถวนั้นเพราะจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายหลี ต่อมานายหลีถึงแก่ความตาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนห้องแถวและออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ยอมออก ขอใหับังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนห้องแถวออกไปและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อประมาณ 30 ปีเศษมานี้ นายหลีปลูกห้องแถวลงในที่ดินพิพาทและได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมานายหลียกห้องแถวและที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสองก็ครอบครองที่ดินดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรื้อห้องแถวออกไปและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเนื่องจากที่ดินนั้นอยู่ในเขตโบราณสถานที่ทางราชการได้ขึ้นทะเบียนไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นนต่อสู้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาท ศาลฎีการับวินิจฉัยให้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองแต่เห็นว่าเมื่อทางราชการได้ขึ้นทะเบียนที่ดินบริเวณใดเป็นเขตของโบราณสถานแล้วก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินในบริเวณนั้นเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งหมด เพียงแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองถูกจำกัดสิทธิบางอย่างในที่ดินของตนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 เท่านั้น เช่น การปลูกสร้างอาคารจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรก่อนตามมาตรา 7 ทวิ หากอาคารที่ก่อสร้างไว้ชำรุดและจะซ่อมแซมหรือจะดัดแปลงแก้ไขก็ต้องแจ้งและขออนุญาตก่อนตามมาตรา 9 และ 10 การโอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่นก็ยังทำได้ แต่โอนแล้วต้องแจ้งการโอนภายใน 30 วัน ตามมาตรา 12 ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันจะเป็นผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
รูปคดีเชื่อว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์ให้นายหลีอาศัยปลูกสร้างห้องแถวเท่านั้น ต้องถือว่านายหลีใช้สิทธิครอบครองที่ดินนั้นแทนโจทก์ จำเลยทั้งสองสืบสิทธิจากนายหลีจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองแทนเช่นกัน หากจำเลยทั้งสองจะแย่งการครอบครองหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง ก็ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ทราบก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนแปลงการยึดถือครอบครอง จึงไม่ใช่เรื่องที่ดินพิพาทถูกแย่งการครอบครอง ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องเรียกเอาคืนภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
พิพากษายืน